วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน 135 ชั่วโมง เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาบริการล่ามภาษามือ และผลักดันสู่การผลิตล่ามภาษามือชุมชน ประจำปี 2567 จัดโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีนายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.เกยูร วงศ์ก้อม หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงความร่วมมือ อีกทั้ง คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วม
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียน มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,304,268 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 427,363 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 67) ขณะเดียวกันสถานการณ์การจัดบริการล่ามภาษามือในปัจจุบัน มีล่ามภาษามือชุมชนที่จดแจ้งกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จำนวน 178 คน เนื่องจากมีล่ามภาษามือชุมชนจำนวนมากที่ยังสอบไม่ผ่านการประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชนตามระเบียบที่กำหนดไว้ และในพื้นที่ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีล่ามภาษามือ จำนวน 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ จำนวน 36 จังหวัด ซึ่งล่ามภาษามือส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
“ในช่วงที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อถวายรายงานผลการดำเนินงานกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนพิการ รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันราชสุดา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการผลิตล่ามภาษามือ“ นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงได้มุ่งเป้าเร่งขับเคลื่อนการผลิตล่ามภาษามือให้เพียงพอต่อการให้บริการคนพิการ วันนี้มีการเปิดตัวโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน 135 ชั่วโมง โดยความร่วมมือกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด หน่วยบริการล่ามภาษามือ หน่วยงานที่ให้บริการล่ามภาษามือ และผู้สนใจ สามารถสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยินที่มารับบริการ และต่อยอดไปสู่การเข้ารับการสอบประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือ เพื่อจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนเพิ่มมากขึ้น สำหรับโครงการอบรมล่ามภาษามีการจัดอบรมรวม 6 รุ่น รุ่นละ 30 คน จำนวน 180 คน (ระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 77 จังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ศูนย์บริการคนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมล่ามภาษามือในรุ่นต่อไป จำนวน 500 กว่าคน นับเป็นเรื่องที่ดี แต่เป้าหมายของเรา คือ ต้องการผลิตล่ามภาษามือให้ได้ 40,000 กว่าคน เพื่อบริการคนพิการทางการได้ยินให้ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การเป็นล่ามภาษามือ ยังสามารถเป็นอาชีพที่มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยได้เดินไปข้างหน้า โดยเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #คนพิการ #ล่ามภาษามือ