กรุงเทพฯ 24 มีนาคม 2566 - BrandThink บริษัทด้านการสื่อสาร ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก (Positive Change) ให้ผู้คนและสังคมด้วยแนวคิด “Create a Better Tomorrow” จัดงานเปิดบ้านเป็นครั้งแรก ชวนทุกคนมาเปิดประสบการณ์และสร้างนิยามใหม่เพื่อวันพรุ่งนี้ไปด้วยกัน ผ่านโปรเจกต์ใหม่ๆ จาก 5 ยูนิตธุรกิจภายใต้ร่ม BrandThink ได้แก่ Content Agency, Content, Commercial, Cinema และ Community ที่จะมาสร้างมิติใหม่ให้วงการคอนเทนต์ ผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่มีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพลังในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ยังหวังให้งานนี้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างครีเอเตอร์ (Creator) ผู้บริโภค (Audience) และแบรนด์ไว้ด้วยกัน พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วน เพื่อติดปีกให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดดันรายได้ปี 2566 เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว
นายเอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แบรนด์ธิงค์ จำกัด เผยถึงที่มาของการจัดงานเปิดบ้านในครั้งนี้ว่า หนึ่งใน Pain Point ของบริษัท คือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า BrandThink เป็นใครและทำอะไร หรืออาจจะเข้าใจว่า BrandThink ผลิตแค่คอนเทนต์ออนไลน์เท่านั้น ดังนั้น เพื่อสื่อสารให้คนภายนอกรู้จัก BrandThink มากขึ้น จึงตั้งใจจัดงานเปิดบ้าน เพื่อบอกเล่าถึงตัวตนของ BrandThink หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อน ได้มีการปรับองค์กรครั้งใหญ่ และสร้างโมเดลธุรกิจด้วยแนวคิดใหม่ สลัดภาพสื่อด้านธุรกิจยุคใหม่ที่หลายคนคุ้นเคย ด้วยการควบรวมและต่อยอดบริษัทด้านโปรดักชั่นเฮาส์และสื่อออนไลน์ในเครือ สู่การเป็น 'Hybrid Content Creator Company’ หรือ ‘บริษัทผลิตคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ' ที่มีแพสชั่นในการสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมผู้คนในการร่วมสร้างสรรค์วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ผ่าน 5 ยูนิตธุรกิจ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ Content & Commercial, Cinema และ Community
“โดย Content & Commercial จะประกอบด้วย Content Agency, Content และ Commercial ในส่วน Content Agency กับ Commercialจะมุ่งตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มลูกค้า ด้วยการผลิตคอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยความปราณีต ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถตอบโจทย์ สร้าง Conversion ให้กับลูกค้า ใน ส่วนของ Content จะเป็นยูนิตที่ผลิตคอนเทนต์ที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายผ่าน Sub-Channels ต่างๆ ที่อยู่ในเครือของแบรนด์ธิงค์ ด้วยแนวคิดในการเป็น ‘Multi-Channel Network’ “ถัดมา คือ Cinema เราตั้งเป้าจะซัพพอร์ตระบบนิเวศน์ของวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ด้วยการร่วมสร้าง Ecosystem ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรม ทั้งการเป็น Publisher, Community รวมถึงเป็นสตูดิโอสำหรับการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดีที่หยิบประเด็น Local นำมาเล่าให้สนุกและนำ Content ไทยสู่ตลาดโลก ส่วนยูนิตสุดท้าย คือ Community ที่เราตั้งใจร่วมสร้างเครือข่ายสำหรับ ครีเอเตอร์ทุกประเภทเพื่อช่วยให้ทุกคนได้ร่วมสร้างผลงานและแลกเปลี่ยนแบ่งปันโอกาสในการสร้างสรรค์งานต่างๆ ไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ นายเอกลักญ ยังเสริมด้วยว่า การขับเคลื่อนทั้ง 5 ยูนิตให้เติบโต ก็เหมือนกับการเล่นเกมบน 5 กระดานพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะโจทย์ของการผลักดันทั้ง 5 ยูนิต คือการ Intregrated ระหว่างยูนิตต่างๆ ให้สามารถทำงานสอดประสาน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนภารกิจขององค์กร ที่ต้องการสร้างคอนเทนต์ที่ทรงพลัง สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และผู้คนในวงกว้างมากกว่าเดิม
“อีกหนึ่งข้อดีของการเป็น ‘Content Creator Company’ ที่มีการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายอย่างครบวงจร คือ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในหลากหลายมิติเข้าด้วยกัน อีกท้ังยังช่วยต่อยอดคอนเนกชั่น ยกตัวอย่างเช่น โปรเจกต์ Sauce NFT ที่เป็นแชนแนลแนะนำร้านอาหารและเรื่องราวอาหารต่างๆ และเรากำลังทำ NFT Utilities กับร้านอาหารชั้นนำที่ร่วมกับเราในการเปิด NFT ให้ผู้ที่สนใจได้จับจองสิทธิพิเศษแบบ Exclusive ในการทานอาหารแบบที่หาจากเมนูทั่วไปไม่ได้ซึ่งจะช่วยสร้าง Brand Royalty ระหว่างลูกค้าและร้านให้ใกล้ชิดมากกว่าเดิม ซึ่งไอเดีย Food NFT Agency ถือว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย
“หรือโปรเจกต์ฝั่ง Cinema ก็เป็นเหมือนประตูที่ทำให้เราได้รู้จักและได้ความรู้จากคนที่ทำงานภาพยนตร์ เพื่อนำไปปรับใช้กับคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ได้ลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างพาร์ตเนอร์ เกิดเครือข่ายที่เชื่อมโยงและต่อยอดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนทั้ง 5 ยูนิตธุรกิจให้เติบโต นายเอกลักญ กล่าวว่า จะอยู่บนพื้นฐานของ ‘3H’ ได้แก่ Hybrid (ความหลากหลายในผลิตเนื้อหา), High Quality (คุณภาพที่สูง) และ High Conversion (ผลลัพธ์ที่เห็นภาพและจับต้องได้จริง) ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้ขับเคลื่อนทั้ง 3H ได้ คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผสมผสานสิ่งที่ขายได้ (commercial) และศิลปะ (art) ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว โดยคอนเทนต์ที่ส่งออกไปยังสามารถวัดผลได้ เพียงแต่นิยามของผลลัพธ์ในที่นี้ อาจจะไม่ได้สะท้อนกลับมาในรูปของตัวเงินหรือการมีส่วนร่วมของผู้เสพคอนเทนต์เท่านั้น แต่อาจจะเป็นการจุดประกายความคิดบางอย่างในสังคม ในจุดที่สังคมมองข้ามหรือไม่เคยมองเห็น ไปจนถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในเชิงบวกที่ทำให้คนในสังคมหันมามี Empathy กันมากขึ้น
ในส่วนของทิศทางของทั้ง 5 ยูนิตที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 แต่ละยูนิตจะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน สำหรับ 2 ยูนิตที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ คือ ยูนิต Cinema ที่จะมาเปิดตัวโปรเจกต์ Long Form Content ทั้ง 3 รูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือ สารคดี ในส่วนของ Community เราจะมีการเปิดตัว Creator Community Platform น้องใหม่ อย่าง www.thinkster.co เพื่อให้เป็น Content Creator Network แหล่งรวมครีเอเตอร์ทุกสายพันธุ์ เช่น นักเขียน ช่างภาพ วิดีโอครีเอเตอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ โดยเปิดพื้นที่ให้ครีเอเตอร์ได้สร้างผลงาน และรวบรวมผลงานเพื่อโชว์เป็นพอร์ตโฟลิโอ
นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในคอมมูนิตี้ ยังสามารถสร้างแคมเปญเชิงสังคม โดยผู้ใช้สามารถเป็นทั้งผู้สร้างแคมเปญและผู้ร่วมแคมเปญต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นที่สนใจ พร้อมกับเป็นพื้นที่ให้แบรนด์และครีเอเตอร์ได้มาเจอกัน และทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน ให้แบรนด์ได้เจอครีเอเตอร์ที่ใช่ และครีเอเตอร์ได้สร้างงานที่ก่อรายได้ที่ดี
ในฝั่ง Content ปีนี้ จะมีหลายโปรเจกต์มาให้ติดตาม อาทิแชนแนลใหม่อย่าง 'Human Biz’ นำเสนอเรื่องราวธุรกิจในมุมที่หาไม่ได้จากที่ไหนแบบเข้าใจง่ายๆ ตามด้วยการปรับทิศทางใหม่ของ ‘Candy’ ที่จับมือกับ ONEE สร้าง Channel Entertainment ตัวใหม่ที่เจาะลึกเรื่อง Pop Culture และทำให้ทุก Generation เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ภายใต้ concept ‘Connect the Pop’
ในฝั่งของ Content Agency ยังคงโฟกัสในการสร้างงานด้วย Quality based สำหรับ Corperate Campaign, Always on Contents และ Commercial ที่จะขยายไปจับตลาดกลุ่มประเทศจีน อินเดียและอินโดนีเซียให้มากขึ้น
“ผมเชื่อว่า ด้วยโมเดลธุรกิจที่ครบวงจร จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำรายได้ 3 เท่าตัวในปีนี้ สำหรับเป้าหมายในอนาคต ผมตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปี ผมอยากให้ BrandThink เป็น Hybrid Content Creator” อันดับต้นๆ ของเมืองไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยแลนด์สเคปในโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นอกจากความยืดหยุ่นจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ การร่วมมือกันภายในองค์กรและพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ก็เป็นอีกแต้มต่อสำคัญในการสร้างโอกาสในทางธุรกิจไม่รู้จบ” เอกลักญกล่าวทิ้งท้าย