กรุงเทพฯ 18 ตุลาคม 2566 – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับ นายคิชิโมโตะ ชูเฮ ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศ ด้านผู้ว่าฯ วากายามะ สนใจดึงภาคเอกชนไทยร่วมลงทุน หวังต่อยอดเชื่อมโยงการยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ และว่าคาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น นับว่ามีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลายาวนานถึง 136 ปี ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม การร่วมทุน-ลงทุน และการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศที่มีการเกื้อกูลกัน อีกทั้ง หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยได้มีการผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมร่วมมือกันในทุก ๆ มิติ ส่งผลให้เกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้สานสัมพันธ์ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องในการยกระดับขีดสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และหลักการ BCG Economy เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือกับจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ในการส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนจนเกิดเป็นคู่ค้า รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ ตลอดจนการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมร่วมกันของทั้งสองประเทศในอนาคต
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ประเทศญี่ปุ่น ในการยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในลักษณะ Local-to-local ผ่านการลงนามความร่วมมือ MOU ไปแล้ว 23 แห่ง โดยในปัจจุบันมีผู้แทนจากจังหวัดวากายามะมาประจำที่โต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ตั้งแต่ปี 2562 - ปัจจุบัน เพื่อสร้างเสริมโอกาสในการแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี - นวัตกรรมการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนการร่วมกันจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจในระดับสากล โดยในระยะเวลาประมาณ 4 ปีที่ผ่านสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องเขินกับจังหวัดวากายามะ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิด เทคนิคเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความร่วมมือและสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศที่สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2565 ได้ร่วมมือกับจังหวัดวากายามะ จัดงานนิทรรศการเครื่องเขินไทย – ญี่ปุ่น (Kishu Lacquerware) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 (DIPROM Center 1) จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญไทย –ญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเครื่องเขิน (Craftsmanship) ร่วมกัน ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ และเทคนิคต่าง ๆ โดยงานนิทรรศการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงของทั้งสองวัฒนธรรมที่โดดเด่นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย