บริษัท พนัส แอสเสมบลีย์ จำกัด นำเสนอรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าดัดแปลง (Electric Commercial Vehicle Conversion) และโซลูชันครบวงจร ด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า ระบบบริหารไฟฟ้าถึงสายส่ง รวมถึงการซ่อมบำรุง โดยเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100% ในราคาที่คุ้มค่าและเหมาะสมสำหรับสภาพภูมิประเทศและถนน การสัญจรและอุณหภูมิร้อนชื้นของเมืองไทย
หากกล่าวถึงรถทางการพานิชย์ ได้แก่ รถปิคอัพ รถบรรทุกสี่ล้อ รถบรรทุกหกล้อ รถบรรทุกสิบล้อ หรือแม้แต่หัวลาก ในยุคของน้ำมันแพง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการขนส่ง รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสม ในการลดต้นทุนน้ำมัน ซึ่งสามารถลดได้มากสุดถึงหนึ่งในห้าต่อเดือน อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่ายังมีราคาที่ค่อนข้างสูง และการนำเข้าจากต่างประเทศมักจะพบข้อจำกัดของขนาดและอุณหภูมิของแบตเตอรี่ที่กำหนดไว้ ทำให้ระยะทางมีจำกัด รวมถึงขนาดกำลังของมอเตอร์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสภาพสภาพภูมิประเทศและถนนของเมืองไทย การขึ้นเขาหรือสภาพถนนที่คดเคี้ยวจะส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะและการบำรุงรักษา ประการสำคัญคือ ซอฟต์แวร์ภายในตัวรถที่ควบคุมระบบไฟฟ้าและสมองกลฝังตัว ที่มักจะเป็นระบบปิด ส่งผลให้ยากต่อการบริการหลังการขายไม่ว่าจะด้านการสื่อสารข้อมูลหรือการซ่อมบำรุง
ในทางตรงกันข้าม ในประเทศไทยยังมีรถทางการพานิชย์แบบเติมน้ำมันสูงถึงประมาณ 8 ล้านคัน ทำให้อุตสาหกรรมรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงได้เข้ามาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ทั้งด้านการลดต้นทุนและลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 ว่าจะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนถนนไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อย่างไรก็ตามไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่บรรจุเป็นนโยบายหลักไว้ในแผนระดับชาติ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ดังนั้น พนัส แอสเซมบลีย์ จึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงที่มีมาตรฐาน ให้เหมาะสมกับคนไทยเพื่อประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และความร่วมมือกับสถาบันวิจัยขั้นสูง Industrial Technology Research Institute สาธารณรัฐจีน (ใต้หวัน) รวมถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
ด้วยประสบการณ์กว่า 50 ปีของบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ซี่งเป็นผู้นำในการส่งมอบโซลูชันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การออกแบบรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง ได้ริเริ่มจากการแสวงหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้ามาเป็นฐานคิดในการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ที่แท้จริงของลูกค้า จากนั้นมีการศึกษาและดำเนินกระบวนการดัดแปลงภายใต้มาตรฐานทางวิศวกรรม การวิเคราะห์โครงสร้างรถ การออกแบบและจำลองการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ และการทดสอบด้วยภายใต้มาตรฐานกรมการขนส่งทางบก โดยกระบวนการทั้งหมดมีทีมวิศวกรคนไทยมากกว่า 40 คนในการพัฒนาดังกล่าว ทำให้การดัดแปลงมีมาตรฐานสูและมีความยืดหยุ่น (Customizable) ตามความต้องการใช้งาน โดยมีมอเตอร์ที่มีระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 เกียร์เพื่อรองรับการขึ้นพื้นที่ลาดชัน และขนาดแบตเตอรี่สามารถออกแบบประเภทและขนาดความจุตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าแต่ละฝูงรถ ซึ่งอาจจะใช้รถในระยะเวลาและเส้นทางที่ต่างกัน สามารถคืนทุนได้เร็ว โดยไม่ต้องซื้อรถใหม่ที่มีราคาแพงคืนทุนนาน อนึ่ง เมื่อดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า 100% แล้ว จำนวนชิ้นส่วนของตัวรถได้ลดลงถึง 70% และสามารถให้บริหารหลังการขายง่ายและรวดเร็วขึ้น สำหรับ พนัส แอสเซมบลีย์เองมีการให้บริการหลังการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และศูนย์บริการทั่วประเทศ แน่นอนว่าการพัฒนาโปรแกรมและซอฟต์แวร์ในตัวรถเองตั้งแต่แรก จะสามารถทำการซ่อมบำรุงสะดวกที่สุดแก่ลูกค้า เนื่องจากรู้ถึงข้อมูลระบบควบคุมทั้งหมด ด้วยฟังก์ชันเหล่านี้ถือว่า พนัส แอสเซมบลีย์ ได้ส่งมอบความคุ้มค่าของรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าดัดแปลง ที่ “คืนทุนเร็วที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับประเทศไทย” ซึ่งจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก และ ณ งาน Bangkok International Motorshow 2022 บูธ Future Mobility (A22/2) Impact Challenger Hall ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายนนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : PANUS Drive หรือ Line OA : @panusdrive
พนัส แอสเซมบลีย์ มีแผนยุทธศาตร์ที่ชัดเจน ในการสร้างผลลัพธ์ให้กับประเทศและขยายสู่ตลาดโลก โดยได้เตรียมความพร้อมทางด้านโรงงานใหม่และการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญร่วมกับสถาบันการศึกษาในเครือข่ายในการรองรับการผลิตจำนวนมาก การบริหารห่วงโซ่อุปทานเพื่อการส่งมอบสิ้นค้าและบริการอย่างมีคุณภาพและตรงเวลา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะและมาตรฐานรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า โดยมีโมเดลธุรกิจทั้งแบบการดัดแปลงที่บริษัท ฯ เอง และการกระจายชุดคิทพร้อมคู่มือและการอบรมให้เครือข่ายอู่ต่าง ๆ ที่มีความสนใจ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านวิเคราะห์ความคุ้มทุน การบริหารโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า การให้บริการจดแจ้งเปลี่ยนทะเบียน รวมถึงการให้การบริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้สู่ฐานรากและสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัท ฯ ที่มุงเน้นนวัตกรรมเชิงพานิชย์ พนัส แอสเซมบลีย์ ไม่หยุดยั้งในการคิดค้น วิจัย พัฒนา และสร้างเครือข่ายพันธมิตรในด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามความร่วมมือร่วมมือกับแบตเตอรี่ CATL ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในการพัฒนาแบตเตอรี่ การสร้างความร่วมมือในการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Volta และถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่ พนัส แอสเซมบลีย์ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่สังคมสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) และสังคมไร้คาร์บอน (Carbon Zero Society) ในอนาคต