วันนี้ (2 เม.ย. 66) เวลา 10.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2566 (WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD) 2023) ภายใต้ประเด็นรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติว่า ออทิสติกกับเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2030 : สังคมบูรณาการ พร้อมอ่านสาสน์วันรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2566 (ภาษาไทย) เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการสนับสนุน ยอมรับ ส่งเสริมบุคคลออทิสติก และสร้างความร่วมมือเครือข่าย ผู้ปกครองบุคคลออทิสติกในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยการรณรงค์พิทักษ์สิทธิเพื่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของบุคคลออทิสติก ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ เพื่อให้สังคมได้มีโอกาสสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก พร้อมทั้งมอบโล่แก่บุคคลและหน่วยงานที่ทำประโยชน์แก่บุคคลออทิสติกประเทศไทย จำนวน 29 องค์กร โดยมี นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทยและนายกสมาคมผู้ปกครองออทิซึม (ไทย) กล่าวรายงาน และนางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวถึงการขับเคลื่อนและสนับสนุนงานด้านบุคคลออทิสติกไทยภาคสาธารณสุขในปี 2566 ณ มูลนิธิออทิสติกไทย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิออทิสติกไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) บริษัท ทรู คอรเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กรมสุขภาพจิต สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้จัดงานวันรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2566 (WAAD 2023) ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเด็กและบุคคลออทิสติกในทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้นมา โดยมุ่งหมายให้สังคมโลกร่วมกันจัดบริการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกอย่างบูรณาการตลอดเส้นทางชีวิตของแต่ละบุคคลอย่างสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ นับเป็นปีที่ 13 ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม อีกทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายด้านคนพิการ
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก นับเป็นการสร้างความตื่นตัวและการรับรู้เกี่ยวกับบุคคลออทิสติกทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน วันนี้ ถือว่าภาคีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกเข้ามาร่วมงานสนับสนุน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม และเครือข่ายผู้ปกครองบุคคลออทิสติก เพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียม ทำให้บุคคลออทิสติกมีโอกาสในสังคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เราแค่เพียงเปิดใจยอมรับความแตกต่างและเดินไปด้วยกันกับบุคคลออทิสติก เพียงเท่านี้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมในสังคมแล้ว
นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า สำหรับปี 2566 กระทรวง พม. โดย พก. มีการทำงานร่วมกับสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) โดยริเริ่มสานต่อการดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบการจัดสวัสติการระดับชุมชน (บ้านพิทักษ์) ด้วยการให้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานการส่งเสริมการศึกษา อีกทั้งหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับสิทธิการศึกษา การจัดทำหลักสูตร และการจัดบริการทางการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม ด้วยการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตโดยอิสระและพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม