วันนี้ (29 ต.ค. 67) เวลา 08.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในการกีฬา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ นางแบบ นักแสดง และทูตสันถวไมตรี UN Women Asia Pacific และคณะผู้บริหาร พม. ร่วมติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว แก่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยใช้ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) เป็นสื่อสัญลักษณ์สากลในการยุติความรุนแรง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า ข้อมูลจากเลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ว่า “ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากที่สุด ทุกที่ทั่วโลก และทุก 11 นาที จะมีสตรีหรือเด็กผู้หญิงหนึ่งคนเสียชีวิตด้วยน้ำมือของคนรักหรือสมาชิกในครอบครัว” ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวไม่ใช่เพียงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ความรุนแรงในครอบครัวยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจากข้อมูลจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ของกระทรวง พม. พบว่า มีผู้แจ้ง/ร้องเรียน และสอบถามขอคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความรุนแรงผ่านช่องทางของกระทรวงฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 1,427 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัวไปแล้วกว่า 1,026 กรณี ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ และจากรายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ข้อมูล 1 ต.ค. 66 – 30 ก.ย. 67) พบว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 2,455 ราย โดยความรุนแรงที่พบอันดับหนึ่งคือด้านร่างกาย 1,722 ราย รองลงมาคือด้านจิตใจ 1,583 ราย และด้านเพศ 142 ราย ละเลย/ทอดทิ้ง 101 ราย และเสียชีวิต 84 ราย ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ และความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจากข้อมูล พบว่าผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามี หรือเป็นพ่อ โดย กระทรวง พม. ได้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของคดีความ ด้านการแพทย์และด้านสังคมสงเคราะห์
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) โดยได้ดำเนินการผลักดันนโยบายและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงหลายด้าน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทุกเพศ ทุกวัย โดยการปรับเปลี่ยนฐานคิดและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและเร่งสร้างการรับรู้ให้คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไกทั้งในระดับจังหวัดและระดับชุมชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
สำหรับเดือนพฤศจิกายน กระทรวง พม. จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดทั้งเดือนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยในปีนี้ กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด "สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง" (ACT NOW to end Violence against Women and Gits) ณ ลานอัฒจันทร์ ชั้น LG สยามสแควร์วัน (SQ-1) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทุกคนในสังคมตระหนักรู้ รับรู้ถึงสาเหตุ ปัจจัยและแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว การสร้างเจตคติค่านิยม และปลูกฝังมายาคติที่ถูกต้องและเหมาะสม การส่งเสริมบทบาทในการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวให้หมดสิ้นไป โดยกิจกรรมประกอบด้วย การเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาคราชการ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคมกีฬา ศิลปินดารา เด็ก นักเรียน นักศึกษา สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป รวมกว่า 600 คน ร่วมเดินรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ พิธีมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงฯ การร่วมแสดงเจตนารมณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงฯ จากภาคีเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ การแสดง Flash Mob ชุดการแสดง “10 คำดี” จากวงดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมรับชมคอนเสิร์ต โดยศิลปินวง Getsunova
นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค ได้สนับสนุนให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 หรือตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2567
ถึงแม้ว่าเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ แต่ขอเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้กับสังคมในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ช่วงเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น การยุติความรุนแรง สามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา และเริ่มได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอเทศกาลหรือวันรณรงค์ เหมือนกับแนวคิดการจัดงานของเราในปีนี คีย์หลักคือ ACT NOW คือเริ่มทันที ! โดยเริ่มจากการที่ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรง” ไม่มองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างสังคมที่ไร้ความรุนแรงไปด้วยกัน
พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวโทร 1300 โทรฟรี 24 ชั่วโมง หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์แจ้งเหตุเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง
📣 #พม.พอใจทุกวัยพึงใจในพม.
#สังคมไทยไร้รุนแรง #FamilyFirst #วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว #หยุดคุกคามทางเพศ #ฝึกอาชีพฟรี #เลี้ยงเดี่ยวไม่เดียวดาย #แตกต่างอย่างเท่าเทียม #DWF #สค.
📣 ติดตามข่าวสาร สค.ได้ที่
เว็บไซต์: https://www.dwf.go.th/
Facebook Fanpage : https://www.facebook.com/sorkor026596776/
TikTok : https://www.tiktok.com/@dwf_tiktok?_t=8Zl3GRosGXq&_r=1
เพื่อนครอบครัว: http://www.xn--42ca5dfr6ac6azcd1c9c9f0e.com/
LINE Official : @linefamily
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCXtsy6w-fx3fkESr-C6UaAA