นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย/ผู้แทนคณะกรรมการประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ภายใต้โครงการจัดแสดงและเชื่อมโยงการตลาดภูมิปัญญาผ้าไทย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ณ OTOP OUTLET ศูนย์ราชการ กรมการพัฒนาชุมชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่น่าตื่นเต้น กับกิจกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ชิงรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2565 นับเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสาน ภูมิปัญญาของคนไทย ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์เปรียบเสมือนแสงพระอาทิตย์ และแสงพระจันทร์ ที่ยิ่งใหญ่ในการนำทาง ให้ความสว่าง ความวัง ความอบอุ่น และความเมตตา แก่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศ ได้สืบสานพระราชปณิธานพระพันปีหลวง ในเรื่องของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้ยั่งยืน ประกอบกับในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมากับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการถดถอย แรงงานว่างงานเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ทรงชุบชีวิตให้กับผ้าไทย ให้กับงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม เพื่อให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ OTOP ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ทั้งยังทรงมีพระเมตตา พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทำให้เกิดขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการโอทอปทุกคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 และทำให้เกิดความคึกคักในวงการผ้าไทยเป็นอย่างมาก นับเนื่องจากวันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง และเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้พระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้แก่ช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด ในการเชิญชวนให้พี่น้องรวมกลุ่ม OTOP ที่มีมากกว่า 80,000 กลุ่มทั่วประเทศ จากการเก็บสถิติยอดขายผ้าไทยทั้งหมดในแต่ละปี (ไม่นับปี 62) มียอดจำหน่ายถึง 21,000 กว่าล้านบาทในช่วงของเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นลายที่ออกแบบยาก แต่ยอดขายก็ได้กว่า 80 ล้านบาท ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ท่าน ก็ยังทรงตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวการสวมใส่ผ้าไทย กระตุ้นเม็ดเงินเศรษฐกิจฐานราก โดยพระองค์ยังเน้นย้ำในเรื่องของการใช้สีธรรมชาติ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในการมองวงการผ้าไทย ให้อยู่อย่างยั่งยืนจะต้องเปิดกว้าง open mind ยอมรับแฟชั่นให้มีความทันสมัย มีลวดลาย สีสัน รูปแบบ ที่หลากหลายเข้ามาประยุกต์ใช้กับศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งตลอดมา พระองค์ทรงรื้อฟื้นเรื่อง ผ้าไทย โดยทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ ในเรื่องของการออกแบบ packaging branding เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าของผ้า ดังเช่น ดอนกอยโมเดล ที่ชุบชีวิตชาวดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จากได้มีรายได้เพียง 700 บาท/คน/เดือน เป็น 12,000 - 15,000 บาท/คน/เดือน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สามารถเลือกงานทำ แต่กลับมีชีวิคที่มีคุณภาพ มีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ นั่นคือ นิมิตรหมายที่ดี ในการจัดการประกวดผ้าลายขิดพระราชทาน เหมือนการประกวดพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นการตื่นตัวของวงการผ้าไทย ถือได้ว่าเป็นลายที่ชุบชีวิตของสตรีไทยเป็นอย่างมาก และขอเชิญชวนทุกท่าน สวมใส่ผ้าไทยที่เป็นเครื่องเเสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจของคนไทย ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่มีเอกลักษณ์การออกแบบได้อย่างโดดเด่น เปรียบเสมือนผ้าทุกผืน คือ ชีวิตของประชาชน
ขณะที่นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จากกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ประจำปี 2565 ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธาน พร้อมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีเสถียรภาพ กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ "แนวทางตามพระราชดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก" และความรู้แบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ แบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และช่างทอผ้า อีกทั้งให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย สามารถนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน ดำเนินการ 8 จุด คือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุดรธานี และสุโขทัย จากผู้เชี่ยวชาญ ด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งดีไซเนอร์ นักออกแบบชั้นนำของประเทศ และได้การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า ของผู้เข้าร่วมอบรมฯ โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย “Live สด” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า แนวทางและเกณฑ์การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่นำแบบผ้าลายพระราชทาน ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมีเงื่อนไขการส่งผ้าเข้าประกวด คือ ผู้ส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวดให้ส่งตามภูมิลำเนาที่ผลิตผ้า และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น เส้นใยที่ใช้ทอ หรือผลิตผ้า เป็นเส้นใยไหมพันธุ์พื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ (ไหมพันธุ์พื้นเมือง) หรือเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ ใช้สีธรรมชาติ โดยผู้สมัครส่งผลงานผ้า พร้อมแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) และเมื่อชิ้นงานผ่านเข้ารอบการประกวดระดับประเทศ ผู้สมัครต้องส่งผลงาน พร้อมบรรจุภัณฑ์จริง (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) มาเพิ่มเติม ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน และประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยมในการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาค และระดับประเทศ ซึ่งการจัดประกวดในระดับภาคในครั้งนี้ กำหนดพื้นที่ดำเนินการเป็น 4 ภาค 4 จุด ประกอบด้วย 1) ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2565 2) ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2565 3) ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2565 และ 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2565 โดยรางวัลการประกวด “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”เดือนธันวาคม 2565 แบ่งเป็นประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วย1) Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท นำมาออกแบบตัดเย็บ ฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ 2) สี Trend Book 3) ลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม4) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ยอดเยี่ยม 5) ผ้าไหมพื้นบ้านยอดเยี่ยม (ผ้าที่ใช้ไหมพันธุ์พื้นบ้าน และสาวไหมยอดเยี่ยม) 6) Young OTOP (1. มีอายุไม่เกิน 30 ปี นับถึงวันที่ปิดรับสมัคร 2. เป็นทายาทของผู้ประกอบการ OTOP 3. เป็นผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Young OTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน) งานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่นและยอดเยี่ยม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน ได้แก่ เหรียญทองคำ จำนวน 21 รางวัล เหรียญเงิน จำนวน 21 รางวัลและเหรียญนาก จำนวน 21 รางวัล
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม ขอเชิญชวนพี่น้องช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ได้ร่วมกันทอผ้าและผลิตชิ้นงานส่งเข้าประกวด ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 นี้ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธาน อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยขอรับรายละเอียดการประกวดได้ที่กรมการพัฒนาชุมชน หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั่วประเทศ