กรุงเทพฯ – 27 กรกฎาคม 2565 - เกรท วอลล์ มอเตอร์ เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ของเยาวชนไทย ประกาศจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษา ออกแบบ ตลอดจนสร้างอุปกรณ์ชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริงสำหรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อสร้างทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาต้นแบบจักรกลการเกษตรดัดแปลงซึ่งใช้มอเตอร์และแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า ตอกย้ำความมุ่งมั่นในฐานะผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทย (xEV Leader) ที่พร้อมพัฒนาทักษะบุคลากรคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์สำหรับใช้ในโครงการฯ ตามความเหมาะสม สร้างทักษะการพัฒนาและการประยุกต์ดัดแปลงต้นกำลังจากยานยนต์ไฟฟ้าผ่านประสบการณ์จากการทดลองใช้ต้นแบบอุปกรณ์ชุดฝึก และการพัฒนาสร้างต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรดัดแปลงที่ใช้ต้นกำลังจากชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทฯ โดยนอกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครแล้ว โครงการยังครอบคลุมสถานศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์อีก 3 แห่งภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาอีกด้วย ได้แก่ 1. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) 2. วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี (ช่าง และวิศวกร) และ 3. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน (ชีวภาพการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร)
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้รับเกียรติจาก คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี โดยมี นายไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไป เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ผศ. ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ร่วมลงนาม ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านที่สู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การพัฒนาอาชีวศึกษาในการศึกษาและพัฒนากระบวนการ คิดค้น ดัดแปลงเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งใช้ต้นกำลังมอเตอร์และแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า มาเพื่อเป็นต้นแบบใช้การเรียนการเกษตรให้มีความทันสมัย ให้มีความก้าวไกล จะเป็นอีกคำตอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะกำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญ ทั้งภาคการเกษตร และในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงในภาคธุรกิจบริการ ดังนั้น อาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งในการพัฒนาผู้เรียน จึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย เพื่อนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคนที่มีคุณภาพ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต”
นายไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไป เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ เห็นศักยภาพในหลายๆ ด้านของประเทศไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก หนึ่งในความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเราคือการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยทั้งในด้านทักษะสมัยใหม่ องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษารวมถึงคณะครูอาจารย์ ได้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้เชิงลึกด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และในอนาคต บุคลากรเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเติมเต็มความพร้อมให้กับระบบนิเวศทางยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง”
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ในสภาวะของพลังงานเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันราคาสูงขึ้น และประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนในเรื่องของอุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มของ S Curve New Curve ซึ่งมีกลุ่มของยานยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการในเรื่องของการพัฒนาประเทศ และนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นในการที่ปรับตัวเพื่อจะผลิตและพัฒนากำลังคนของอาชีวะจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีการปรับตัวเพื่อที่จะให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และภาคอุตสาหกรรมซึ่งในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ในสังกัดอาชีวศึกษา ที่ได้รับมอบนโยบายว่าทำอย่างไรที่จะพัฒนา จะต้องใช้เทคโนโลยี เข้าไปในเรื่องของการบริหารจัดการในสถานศึกษาเกษตรกรรม ประกอบกับ สอศ. มีสถานศึกษาซึ่งเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราเน้นที่ผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มนี้ให้เป็นนวัตกร เพื่อเป็นผู้ผลิต คิดค้นนวัตกรรม และการดัดแปลง โดยจะเริ่มต้นกระบวนการศึกษานำร่องในวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) 2. วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี (ช่าง และวิศวกร) และ 3. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน (ชีวภาพการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร) และการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งมีองค์ความรู้เข้ามาเติมเต็ม ในเรื่องของการพัฒนาออกแบบ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ และได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม”
ผศ. ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับกระบวนการพัฒนาความรู้และทักษะของนักศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการยกระดับแวดวงอุดมศึกษาของไทยอย่างก้าวกระโดด โดยทางมหาวิทยาลัยฯ จะทำงานร่วมกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และ สอศ. ตลอดจนสถานศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับกำลังคนที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ทางภาครัฐกำลังเน้นผลักดันการเติบโตให้กับประเทศไทย”
ความร่วมมือทางการศึกษาในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสังคมของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางสังคม การพัฒนาชุมชน การสืบสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของเยาวชน ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะ “บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก” (Global Intelligent Technology Company) ไม่เพียงจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย แต่ยังให้ความสำคัญกับการจ้างงานและการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรไทย โดยผ่านทางความร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ พัฒนาทักษะทางอาชีพ และเสริมสร้างประสบการณ์ทำงานในสภาพแวดล้อมจริงให้กับเยาวชนชาวไทย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ตามแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม