วันที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร มอบหมายให้ นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง รองโฆษก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รายงานข้อมูลการปฏิบัติการฝนหลวงผ่านทางเพจ Facebook live
“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนด้านการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์ “เอลนีโญ” และเริ่มมีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ฝนตกปริมาณน้อยและไม่ทั่วถึงแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ประกอบกับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวงในช่วงนี้ ที่มีเพิ่มเป็นจำนวนมาก ครอบคลุม 57 จังหวัด 317 อำเภอ รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนให้ทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมากถึง 214 แห่งทั่วประเทศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2566 จำนวน 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ พร้อมวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อระดมกำลังขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนให้กับพี่น้องประชาชน เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยปฏิบัติการ
ฝนหลวงในแต่ละภูมิภาคร่วมกัน ทั้งการวางแผนและการขึ้นบินปฏิบัติการ ซึ่งมีภารกิจหลักในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ ทั่วประทศ ดังนี้
1.ภาคเหนือ มี 3 หน่วย ที่ จ.เชียงใหม่ ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ จ.ตาก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และ จ.พิษณุโลก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Super King Air 350 จำนวน 1 ลำ โดยทั้ง 3 หน่วยฯ จะร่วมกันวางแผนและผสานกำลังในการปฏิบัติการทำฝนโดยกำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่เป้าหมายในแต่ละวันร่วมกัน
2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 3 หน่วย ที่ จ.ขอนแก่น ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ 1 ลำ ขนาดกลาง 1 ลำ จ.นครราชสีมา ใช้เครื่องบินขนาดใหญ 1 ลำ และ เครื่องบิน Super King Air 350 จำนวน 1 ลำ และ จ.สุรินทร์ ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ ทั้ง 3 หน่วยฯ ร่วมกันวางแผนและกำหนดพื้นที่เป้าหมายประจำวันร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และบินปฏิบัติการร่วมกัน
3.ภาคกลาง มี 2 หน่วย ที่ จ.ลพบุรี ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และ จ.กาญจนบุรี ใช้เครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 2 ลำ
4.ภาคตะวันออก มี 1 หน่วย ที่ จ.ระยอง ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ ปฏิบัติภารกิจหลักในการทำฝนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือด้านการอุปโภค-บริโภค
ในภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
5.ภาคใต้ มี 2 หน่วย ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 2 ลำ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 2 ลำ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ปฏิบัติภารกิจทำฝนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง
อย่างไรก็ตามพี่น้องประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารแจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ/จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr
********************************
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
4 กันยายน 2566