นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ เลขาธิการคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา สภาเกษตรกรแห่งชาติ
กล่าวในการเปิดประชุม "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของชาวนาในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน" และบรรยายพิเศษ หัวข้อ 'ลดต้นทุนการผลิต ก้าวแรกทางรอดชาวนาไทย" ณ ห้องประชุมสมาคมผู้พิการจังหวัดอ่างทอง ต.ศาลาแดง อ.เมือง จ.อ่างทอง โดยคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา
พร้อมด้วยเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสี เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 70 คน ว่า เริ่มต้นโครงการนี้คืออยากจะได้ทั้งชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแล้วจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืนและครบวงจร ซึ่งเวทีที่จังหวัดอ่างทองถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อาจจะปรับเป็นการลงพื้นที่เพื่อหารือถึงมุมมองปัญหาและแนวทางร่วมกันของโรงสี และผู้ส่งออก คณะทำงานด้านข้าวและชาวนาจะนำแนวทางไปปรับเพื่อเวทีในภาคอื่นต่อไป โดยมองว่าเริ่มแรกชาวนาควรมีการปรับตัว ทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน และการจัดการ , วิธีการบำรุงดิน , การแปรรูป และนโยบายภาครัฐ
ทั้งนี้ "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของชาวนาในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน" จัดขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านข้าวและชาวนา โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมเวทีภาคกลางได้นำเสนอหากภาครัฐต้องการช่วยเหลือให้ตรงตามความต้องการ ได้แก่ ระบบชลประทานที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ไม่ใช่มีแค่คลองส่งน้ำแต่ไม่มีการส่งน้ำ หรือสนับสนุนบ่อบาดาลขนาดเล็กที่เกษตรกรสามารถบำรุง รักษาด้วยตนเองได้ , ลดภาษีเครื่องมือทางการเกษตร , ลดดอกเบี้ยจากธนาคารที่ไม่ใช่การพักหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังปกติอัตราเดิม , ปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตควรมีความเสมอภาค เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าน้ำ , การทำนาขาดทุนแต่ส่วนใหญ่ขายได้แต่กำไรน้อย อยากตั้งราคาได้เอง , การช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เมล็ดพันธุ์/ปุ๋ยบำรุง มาไม่ตรงตามฤดูกาล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานด้านข้าวและชาวนา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กำหนดจัดเวทีรับฟังความเห็นจากเกษตรกร พื้นที่ 4 ภาค เริ่มต้นจาก ภาคกลาง จ.อ่างทอง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ณ สมาคมคนพิการจังหวัดอ่างทอง ต.ศาลาแดง อ.เมือง ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 18-20 มีนาคม 2565 ภาคอีสาน จ.ศรีษะเกษ วันที่ 25-27 มีนาคม 2565 และ ภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ วันที่ 1-3 เมษายน 2565 โดยจะรวบรวมความคิดเห็นจากเวทีทั้ง 4 ภาค แล้วดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านข้าวและชาวนาต่อไป