ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยเกริก จัดกิจกรรม“สานสัมพันธ์วัฒนธรรมร่วมสมัยอีสานฝั่งโขง” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 กิจกรรมในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมกล่าวเปิดงาน พิธีบายศรีสู่ขวัญ ประจำปี 2565 โดยมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกริกร่วมผูกแขนแก่นักศึกษาทุกระดับชั้นปี ในช่วงเช้าของงานพิธีดังกล่าว
นอกจากนี้งานพิธีในช่วงบ่ายยังได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงปานวาด ศุขสวัสดิ์ ปนัดดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อม กล่าวเปิด “โครงการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมร่วมสมัยอีสานฝั่งโขงประจำปี 2565” โดยมีกิจกรรมการแสดงพื้นถิ่น 3ชุดการแสดง และ การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าถิ่นอีสาน พร้อมทั้งพิธีมอบรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย และรางวัลอนุรัษ์ประเพณีและวัฒนธรรมสุดยอดแห่งปี ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาอีกด้วย
สำหรับ “บายศรีสูตรขวัญ”เป็นประเพณีดั้งเดิมที่เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล เกิดความสวัสดีกับผู้รับขวัญหรือเจ้าของขวัญ เดิมทีเข้าใจว่าจะทำกันในหมู่ชนชั้นเจ้านายผู้ใหญ่เพื่อให้เกิดสิริมงคล เป็นประเพณีของพราหมณ์ เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวอีสานได้ผ่านการนับถือทั้งธรรมชาติ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธมา จึงมีการเลือกสรรเอาส่วนที่ดีมาปรับใช้และได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสานสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากภาคอีสานแล้วต่อมาก็เริ่มแพร่หลายมีการปฏิบัติในภาคอื่น ๆ ของไทยด้วยเช่นกัน โดยนิยมทำกันในแทบทุกโอกาสต่างๆเพื่อความเป็นมงคลชีวิต และเพื่อการสร้างขวัญและกำลังใจ ทั้งในคราวประสบโชคและประสบเคราะห์ คราวที่ต้องพลัดพรากจากไกล คราวกลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด คราวที่เจ้านายหรือพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาเยือน คราวที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต เช่น การบวช การแต่งงาน การได้งานใหม่ การได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นต้น
ซึ่ง มหาวิทยาลัยเกริก ที่นอกจากจะมุ่งเน้นให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านต่างๆแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญต่อการสืบสานปรพเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่น ในทุกภูมิภาคของประเทศด้วยเช่นกัน จึงสนับสนุน ให้ ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในครั้งนี้