เตรียมขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” หลังพบ คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ - เงินเก็บ ตั้งหลักชีวิตได้
วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมจัดเวทีถอดบทเรียนโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนารูปแบบและนำร่องการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน ในกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” พบความสำเร็จจากการดำเนินงานสามารถสนับสนุนคนไร้บ้านให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะ การมีรายได้เพียงพอต่อการตั้งหลักชีวิต และเกิดเครือข่ายช่วยเหลือระหว่างคนไร้บ้าน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน
ในการ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคม ผ่านรูปแบบการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางรายได้และที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานอันเป็นรากฐานสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ กรมฯ ได้ปรับกระบวนการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ผ่านโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่ชี้ให้เห็นความสำเร็จและทางเลือก ตลอดจนกระทรวง พม. ได้เน้นการขับเคลื่อนด้านการจ้างงานการมีอาชีพและรายได้ซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านตั้งหลักชีวิตได้ต่อไป
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ขับเคลื่อนและร่วมทำงานกับนักวิชาการจากแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพบปัญหาที่ชี้ให้เห็นว่าการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจสูงขึ้น จากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้คนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากเดิมที่พบคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ประมาณ 1,307 คน พบเพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 - 1,800 คน และพบคนไร้บ้านทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 คน การสนับสนุนช่วยเหลือคนไร้บ้านหน้าใหม่หรือคนที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่ถึง 1 ปี สสส. เชื่อว่าจะลดความเสี่ยงและภาวะเปราะบางระยะยาวของคนไร้บ้านได้ ซึ่งการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ สสส. ได้สานพลังร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนา “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง”
นางภรณี กล่าวต่อว่า ความร่วมมือดังกล่าวที่มีเป้าหมายจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้าน ผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จัดตั้งขึ้น โดยคนไร้บ้านจะต้องสมทบค่าเช่าห้องร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วน 60:60 ของค่าเช่าห้อง ซึ่งส่วนเพิ่มร้อยละ 20 ของการสมทบจากคนไร้บ้าน จะถูกนำไปเป็นเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้านอื่นๆ ต่อไป ขณะที่การดำเนินการช่วง 3 เดือนแรก (เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน) พบว่าทำให้คนไร้บ้านกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ 30 คน และมีกองทุนสะสมของเครือข่ายฯ กว่า 3 หมื่นบาท มีคน
ไร้บ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีกราว 20 คน และพบว่าโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้คนไร้บ้านเท่านั้น แต่ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงานและรายได้ที่เพียงพอ มีเงินออมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการตั้งหลักชีวิตในระยะยาว“ความสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าว ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไร้บ้านมีศักยภาพในการตั้งหลักชีวิตได้ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่เหมาะสม และทาง สสส. ได้หารือกับภาคีเครือข่ายที่จะขยายการทำงานสู่เมืองภูมิภาคในอนาคต อาทิ กาญจนบุรี ปทุมธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ภายใต้การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน” นางภรณี กล่าว
นายสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมว่า โครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ได้เปิดมิติการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างรายวันในเมืองกรุงเทพมหานคร และมองว่าการสนับสนุนที่เหมาะสมบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บนความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไร้บ้าน สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนไร้บ้านได้อย่างชัดเจน