เมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับกฎหมายสวัสดิการสังคมสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านสวัสดิการสังคม และด้านสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 เพื่อ นำความเห็นและข้อเสนอแนะ ไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุง เพิ่มเติม และยกระดับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และเกิดความคุ้มค่าในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายอนุกูล กล่าวว่า การทบทวนผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์และการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติ ทั้ง ๒ ฉบับ มีประเด็นสำคัญที่ได้รับการสะท้อนจากที่ประชุมในมิติต่าง ๆ โดยในส่วนของพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมฯ จำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งหลักการในฐานะที่เป็นกฎหมายแม่บทของงานสวัสดิการสังคม อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ต้องทบทวนเจตนารมณ์และข้อบทของกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม ห่วงเวลา และสถานการณ์ทางสังคม และการส่งเสริมให้พระราชบัญญัติฯ มีความเป็นสาธารณะ กล่าวคือ องค์การสวัสดิการสังคมรับรู้และยึดถือเป็นหลักการพื้นฐานของการจัดบริการสวัสดิการสังคม การปรับปรุงข้อบทที่มีการนำไป ขยายความและกำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะอื่น ๆ ในภายหลัง
สำหรับพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 เป็นเครื่องแสดงถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพของงานสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลทางตรงต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อท้าทายที่องค์กรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ที่คุณสมบัติครบถ้วน โดยเฉพาะการรับรองเป็นนักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนภายใต้ข้อบทของกฎหมาย ในประเด็นการควบคุมการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์โดยนักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า กฎหมายเป็นเครื่องประกันสิทธิของประชาชน และก่อให้เกิดการกระทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดกลไกและกำหนดทิศทางงานสวัสดิการสังคมของไทย การสร้างการรับรู้ร่วมกันและมุมมองที่สะท้อนต่อกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลต่อการยกระดับกฎหมายสวัสดิการสังคม ให้มีความพร้อมในการรับมืออย่างเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนของของสังคม ตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม