วันนี้ (19 มิ.ย. 65) เวลา 10.30 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการนำเสนอข่าว ว่า สุดเวทนา 4 ชีวิตครอบครัวพิการ นั่งร้องไห้ริมถนน ถูกผู้ใหญ่บ้านไล่ออกจากหมู่บ้าน ที่ตำบลโคกว่าน อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น ล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยทีม พม. One Home จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้ความช่วยเหลือแล้ว
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ครอบครัวดังกล่าวอาศัยอยู่บนที่ดินของญาติ ซึ่งเป็นบ้านที่มีลักษณะเป็นกระต็อบเล็กๆ สภาพไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สามารถกันฝนได้ และไม่ปลอดภัย ไม่มีห้องน้ำใช้ต้องอาศัยห้องน้ำของเพื่อนบ้าน ที่ตำบลโคกว่าน อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสมาชิกในครอบครัวประกอบด้วย หญิงอายุ 59 ปี ประกอบอาชีพตัดฟืนขายในชุมชน รายได้ไม่แน่นอน อาศัยอยู่กับลูกและหลานอีก 3 คน ได้แก่ 1.ลูกสาวอายุ 33 ปี มีปัญหาด้านสุขภาพกล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอาการปัญหาด้านสุขภาพจิต (ยังไม่มีใบรับรองจากแพทย์) 2.ลูกชายอายุ 12 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.6 มีความพกพร่องทางสติปัญญาสมาธิสั้น รับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน มีนิสัย ชอบเดินในชุมชนและหยิบจับของต่างๆ และ 3.หลานชานอายุ 10 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.4 สุขภาพร่างกายแข็งแรง และเป็นเด็กเรียนดี
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1.ดำเนินการลงพื้นที่ ร่วมกับ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเร่งด่วน กรณีถูกไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้ครอบครัวสามารถกลับมาอาศัยที่บ้านหลังเดิมได้ 2.ดำเนินการวางแผนช่วยเหลือครอบครัวเป็นรายบุคคล รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว โดยการประชุมทีมร่วมกับสหวิชาชีพ 3.ดำเนินการออกบัตรคนพิการให้กับคนพิการทั้งสองคนในครอบครัว เมื่อได้รับเอกสารรับรองความพิการจากโรงพยาบาล เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการด้านต่างๆ 4.ดำเนินการปรับสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ตามโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ให้มีสภาพที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เหมาะแก่การพักอาศัย 5.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์ครอบครัว และพิจารณาช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก
และ 6.ดำเนินการจัดเก็บสมุดพกครอบครัว นำข้อมูลเข้าสู่โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน เพื่อนำไปวางแผนแก้ไขปัญหารวมทั้งให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้ครอบคลุมในทุกมิติต่อไป
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนพบเห็นหรือประสบปัญหาทางสังคมและสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1)ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง 2)สายด่วนคนพิการ โทร. 1479 บริการ 24 ชั่วโมง และ 3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงพม. พร้อมประสานทุกหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่