วันนี้ (20 มิ.ย. 65) เวลา 13.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่
ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านเกร็ดตระการ) จังหวัดนนทบุรี เพื่อร่วมกิจกรรม “รับฟังเสียงจากผู้เสียหาย (Voice of Victims) เป็นการพัฒนากระบวนการคุ้มครองของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และประกาศนโยบายการคุ้มครองผู้เสียหายของกระทรวง พม. โดยมีคณะผู้บริหารร่วมลงพื้นที่
นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองช่วยเหลือบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และการกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยได้ประกาศนโยบายในการคุ้มครองผู้เสียหายของกระทรวง พม. ว่าทุกหน่วยงานจะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายทุกคน ผู้เสียหายทุกคนจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การปฏิบัติงานจะยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และยึดประโยชน์สูงสุดที่ผู้เสียหายจะได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือจะคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย และจะไม่กระทำการใดที่ถือว่าเป็นการกระทำซ้ำต่อผู้เสียหาย ให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนในเพศสภาพ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความแตกต่างทางเพศของผู้เสียหาย คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณีที่มีความแตกต่างออกไป การปฏิบัติงานที่เป็นมิตรกับผู้เสียหายในทุกกระบวนการตั้งแต่กระบวนการคัดแยกจนถึงส่งกลับคืนสู่สังคม ไม่ทำให้เกิดอันตรายและไม่ลงโทษผู้เสียหาย ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม และจะมุ่งเน้นการเสริมพลังของผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ Voice of Victims ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำหรับการทำงานร่วมกับผู้เสียหายโดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim-Centered Approach) ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่กระทรวง พม. ยึดเป็นหลักการสำคัญในการให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย สอดคล้องกับมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดว่าการให้การคุ้มครองผู้เสียหาย ต้องรับฟังความเห็นของผู้เสียหายด้วย วันนี้ จึงได้จัดกิจกรรม “รับฟังเสียงจากผู้เสียหาย (Voice of Victims) เพื่อช่วยย้ำถึงเจตนารมณ์ของกระทรวง พม. สำหรับการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายภายใต้การรับฟังความเห็นของผู้เสียหายและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ ตนลงพื้นที่เพื่อมาสำรวจเรื่องการค้ามนุษย์ ว่าจะสามารถดูแลเด็กให้ปลอดภัย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และดูแลถึงความละเอียดอ่อนทางด้านวัฒนธรรม เพศสภาพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น เบื้องต้นตนพอใจในสิ่งที่เห็น เราไม่ได้ดูสิ่งที่แม่ทำ เราดูถึงผลลัพธ์ของเด็ก ได้แก่ เด็กมีสุขภาพจิตดี มีอาสาสมัครมาสอนภาษาอังกฤษ ส่วนสิ่งที่อยากแนะนำให้มีการเพิ่มเติมคือ การฝึกทักษะด้านดิจิทัล ด้านไอที ซึ่งจะเป็นการสร้างและหาอาชีพได้ง่ายขึ้น และมีมูลค่าสูงสำหรับผู้ที่เรียนจบ โดยทางผู้บริหารจะรับไปดำเนินการต่อ และสิ่งที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตใหม่ การกลับเข้าสู่สังคมได้ สามารถรักษาตัวเองได้ มีความสุข มั่นคง และยั่งยืน นั่นคือสิ่งที่เราหวัง อีกทั้งได้เห็นความสามารถของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสถานคุ้มครองฯ แห่งนี้ ว่าทำงานด้วยใจ ไม่ได้หวังแค่เรื่องค่าตอบแทน เพื่อให้เด็กๆ ในบ้านมีความสุข เราคำนึงถึงมาตรฐานด้านจิตใจของเด็กมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรจากต่างประเทศคำนึงถึงปฏิญญาระหว่างประเทศ เราก็มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าจะบอกไว้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นเกินกว่าที่ให้ปฏิญญาสากลไว้
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ในบ้านแห่งนี้ ไม่ใช่แค่ว่าเข้ามาทำคดีแล้วจบ เป็นพยานแล้วจบ ซึ่งมิติหนึ่งของการคุ้มครองช่วยเหลือพยานให้มีความมั่นใจว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำคือจะต้องทำการปราบปราม ถอนรากถอนโคนการค้ามนุษย์ให้หมดไป ซึ่งต้นเหตุหนึ่งของต้นตอคือ แผลจากครอบครัว ซึ่งกระทรวง พม. ต้องเข้าไปดูในเรื่องนี้ ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง อบอุ่น และตระหนักในการรักลูกหลาน ป้องกันไม่ให้ลูกหลานถูกหลอก ซึ่งภูมิต้านทางที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว รวมทั้งการศึกษา ความเอาใจใส่ดูแลของคุณครู และเราไม่ต้องการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือสิ่งที่เราปรับการทำงานกันมาสองปีกว่าแล้ว ซึ่งตนเชื่อว่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. มีความเสียสละ และมีมาตรฐานการทำงานที่ง่ายขึ้น