วันนี้ (1 ก.ค. 65) เวลา 09.00 น. อธิบดี พก. มอบหมายให้ นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพ การเตรียมความพร้อมและยกระดับในการพัฒนาทักษะให้กับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ หลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (EDC) สำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ รุ่นที่ 1 โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 30 คน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์ กรุงเทพฯ
นางพรนิภา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีภารกิจหลักในการดำเนินการด้านการคุ้มครอง การส่งเสริมสิทธิ สวัสดิการของคนพิการ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่คนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมสิทธิ สวัสดิการ และคุ้มครองคนพิการ
เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม อีกทั้งยังได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารสำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ซึ่งในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตมีบทบาทที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต การค้นหาข้อมูล และการติดต่อสื่อสารในสังคมโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
นางพรนิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บูรณาการความร่วมมือในการฝึกอบรมฯ ดังกล่าวขึ้น จำนวน 4 รุ่น ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ รุ่นละ 30 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 120 คน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้เข้าใจความหลากหลายของข้อมูลบนโลกดิจิทัล การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเตอร์เน็ต ในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และรู้เท่าทันประเด็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งนี้ กิจกรรมประกอบด้วย การ Workshop : ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทักษะตามหลักสูตร ETDA Digital Citizen (EDC) ใน 5 ด้าน คือ ด้านที่ 1 อัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identify) ด้านที่ 2 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) ด้านที่ 3 การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) ด้านที่ 4 การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) และด้านที่ 5 การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication)