วันนี้ (17 ก.ค. 65) เวลา 16.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว กรณีครูสอนพิเศษล่วงละเมิดเด็กชายแล้วถ่ายคลิปนำไปขายทางสื่อออนไลน์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น กระทรวง พม. โดยบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ (บพด.บุรีรัมย์) ได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ภาค 3 ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ และชุดสืบสวนสถานีตำรวจภูธรประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 พบว่า เป็นนักศึกษาชายระดับอุดมศึกษา ชั้นปีที่ 4 อายุ 22 ปี ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก อีกทั้งได้กระทำอนาจารและล่วงละเมิดเด็กชาย โดยมีเด็กที่เข้าข่ายถูกละเมิด กระทำอนาจาร และถ่ายภาพ จำนวน 7 คน อายุระหว่าง 10 -16 ปี และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 บพด.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบข้อเท็จจริงเด็กทั้ง 7 คน เพื่อวางแนวทางในการช่วยเหลือและประสานพนักงานสอบสวนส่งเด็กทั้ง 7 ราย ตรวจร่างกายและพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ จากนั้นได้สืบเสาะข้อเท็จจริงและขยายผล พบว่ามีผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชายเพิ่มเติมจากเดิมอีก 10 คน
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ได้มีการประชุมทีมสหวิชาชีพร่วมกันเพื่อวางแผนการดำเนินงานต่อไป พบว่าที่ผ่านมา ผู้ต้องหาได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ปกครองเด็กบางรายให้มาพบ พูดคุย เคลียร์ปัญหาให้จบ หรือไม่ให้เอาเรื่อง แต่ไม่สำเร็จ บพด.บุรีรัมย์ จึงจะทำงานกับครอบครัวเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กอย่างรอบครอบรัดกุม เพราะผู้ต้องหาและเด็กอยู่ในชุมชนเดียวกันจำเป็นต้องมีแนวทาง วิธีการ มาตรการที่ทำงานร่วมกันทั้งทางโรงเรียน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชุมชน โดยจะประสานงานกับครูประจำชั้นให้นำเด็กเข้าพบนักจิตวิทยาเพื่อทำแบบทดสอบสภาวะทางจิตและหาแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ จากนั้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 บพด.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยนักสังคมสงเคราะห์ ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงเรียนและผู้ปกครองเด็กผู้เสียหายในคดีทั้งหมดแล้วให้รับทราบและมีความเข้าใจในขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย และแนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายของ บพด.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะผู้ปกครองได้คลายความกังวลใจและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในการนำเด็กเข้าพบพนักงานสอบสวนและให้ความร่วมมือในขั้นตอนต่างๆ ต่อไป
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ได้มีการประชุมทีมสหวิชาชีพร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีจากพนักงานสอบสวน โดยได้แจ้งว่า มีการนำตัวเด็กผู้เสียหายทั้ง 6 ราย เข้าให้ปากคำกับทีมสหวิชาชีพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) ที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้เรียกผู้ต้องหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สำหรับเด็กอีก 10 ราย และได้มอบหมายให้คณะพนักงานสอบสวนรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงาน จำนวน 2 คน โดย บพด.บุรีรัมย์ รับผิดชอบในการเตรียมความพร้อมเด็ก จำนวน 2 คน เช่นเดียวกัน และประสานสำนักงานยุติธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อยื่นคำร้องขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาให้กับเด็กทั้ง 17 ราย ทั้งนี้ บพด.บุรีรัมย์ จะลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอีกครั้ง หากพบว่าผู้เสียหายไม่สบายใจที่จะอยู่ในพื้นที่ บพด.บุรีรัมย์ จะพิจารณานำเด็กเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพชั่วคราวต่อไป
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างเต็มที่ และขอให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ได้ดูแลเอาใจใส่ ให้ความอบอุ่นแก่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตุพฤติกรรมและพูดคุยสอบถามทุกข์สุขอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการสร้างเกราะคุ้มภัยที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้บุตรหลานของท่านตกเป็นผู้เสียหาย โดยเฉพาะจากผู้ใกล้ชิดที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก อีกทั้งเป็นการช่วยกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ 1) สายด่วน พม. โทร. 1300 2) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 3) บ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ 4) Application คุ้มครองเด็ก และ 5) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)