พม.เปิดตัว “Mobile Application เงินเด็ก” ยกระดับงานบริการแก่ประชาชนเข้าถึงเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ลดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ป้องกันการบันทึกข้อมูลผิดพลาด พร้อมมีระบบแจ้งเตือนสิทธิ ตรวจสอบสถานะได้ทันที ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
วันนี้ (16 กันยายน 2565) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้จัดงานแถลงข่าว “Mobile Application เงินเด็ก เพื่อยกระดับงานบริการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร พม. ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ
นายจุติ กล่าวว่ารัฐบาลได้มีนโยบายชัดเจนในการจัดสวัสดิการพื้นฐานและเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งรวมถึงเด็กแรกเกิดที่ได้มีการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยการให้เงินช่วยเหลือแก่เด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจนทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เพื่อเป็นมาตรการให้พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองนำเด็กเข้าสู่ระบบบริการของรัฐ และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย
รมว.พม. กล่าวต่อว่าการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการโดย 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดย มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาจาก 3 ปี เป็น 6 ปี และขยายฐานรายได้กลุ่มเป้าหมายจากไม่เกิน 36,000 บาทเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ฐานเกณฑ์รายได้ของผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมเด็กในครอบครัวผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคเครือข่าย ได้ดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาฐานข้อมูลสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้ เพราะเด็กแรกเกิด – 6 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับการพัฒนาทางด้านสติปัญญาการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมวัย เพื่อจะเป็นรากฐานในการพัฒนาเด็ก ให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต” นายจุติ กล่าว
ด้าน นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่านโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นนโยบายสําคัญของรัฐบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลส่งผ่านไปยังบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กแรกเกิดโดยให้เงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทําให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพและมีพัฒนาการตามวัย เป็นการคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการพื้นฐานที่ทัดเทียมนานาประเทศอีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564)
“โครงการดังกล่าวจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ยื่นขอรับเงินอุดหนุนในโครงการได้อัตรา 600 บาทต่อคนต่อเดือน จนทารกมีอายุครบ 6 ปี ซึ่งในปี 2565 นี้ ทางพม.ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนช่วยเหลือเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน” นางจตุพร กล่าว
อธิบดี กรม ดย. กล่าวต่อว่ากรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้พัฒนาการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมีประสิทธิภาพ การพัฒนา Mobile Application “เงินเด็ก” เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้สะดวกมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และสามารถตรวจสอบได้
รวมทั้งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดปัญหาจากการบันทึกข้อมูลผิดพลาด ลดจำนวนเอกสารประกอบการลงทะเบียน ผู้ลงทะเบียนสามารถแก้ไขข้อมูลได้ด้วยตนเอง จัดส่งเอกสารเข้าระบบฐานข้อมูลด้วยการแนบไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบแจ้งเตือนสิทธิ ตรวจสอบสถานะได้ทันที และลดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสอบถาม ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถโหลดแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” และเข้าใช้บริการได้ทันที
สำหรับแอปพลิเคชั่น ดังกล่าว ผู้สนใจสามารถเข้าใจบริการได้ง่ายๆ ผ่าน 6 เมนูหลัก ได้แก่ 1.เมนูลงทะเบียน 2.เมนูติดตามสถานการณ์รับเงิน 3.เมนูขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ 4.เมนูตรวจสอบสิทธิ 5.เมนูติดต่อสอบถาม และ 6.เมนูประเมินความพึงพอใจทั้งนี้ในส่วนของขั้นตอนการลงทะเบียนมี 2 วิธี ได้แก่
วิธีที่ 1 เอกสารประกอบการลงทะเบียน โดยจะต้องมี แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01) แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) สูติบัตรเด็กแรกเกิด บัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card)ของผู้ปกครอง หนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจำ (กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคำร้องของงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท) เอกสารหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่งหรือเอกสารอื่นใดของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
ส่วนวิธีที่ 2 ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” โดยต้องพิสูจน์ตัวตนในครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต รวมถึงยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA และยื่นคำร้องขอลงทะเบียนผ่านแอปพลิชัน “เงินเด็ก” ซึ่งผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น ต้องมีหลักฐานในการรับรองสถานะของครัวเรือน พร้อมภาพถ่ายบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2 รวมทั้งต้องมีหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจำ (กรณีที่ผู้ยื่นคำรองขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคำรองขอลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัท)มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กแรกเกิดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฎิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) http://csgcheck.dcy.go.th หรือโทร. 082-091-7245 ,082-037-9767 และ 065-731-3199 หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร.1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
///////////////////////////////////////////////////