“ปลดล็อกกรุงเทพฯ จาก CI เด็กถึงเมืองปลอดภัยของกลุ่มเด็กเปราะบาง” ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ไม่ให้เด็ก ๆ ต้องโดดเดี่ยว #savekidscovid19
วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกาย (Community Isolation) กทม. เวลา 09.30 น. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด โดยความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กรมสุขภาพจิต และยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนจาก กทม. เครือข่ายคลองเตยดีจัง และภาคีเครือข่าย เตรียมพื้นที่และรูปแบบการจัดบริการของศูนย์พักคอยต้นแบบสำหรับแม่และเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการรักษาและดูแลโดยครอบครัว และลดการรักษาเด็กใน รพ.
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็กที่จัดเป็นกลุ่มเปราะบาง ยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด มีการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2564 – 28 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 6,535 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น ยากจน ได้รับการเลี้ยงดูมิชอบ ถูกทารุณกรรม ฯ 4,489 คน และเป็นเด็กกำพร้า 448 คน ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งในด้านกระบวนการสังคมสงเคราะห์และ การประสานด้านสาธารณสุข ในส่วนของเด็กกำพร้าต้องดูแลเยียวยาในระยะยาว
ข้อมูลเด็กกำพร้าได้ถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบันเด็กกำพร้า 448 คน มีแผนที่ชีวิตสำหรับการพัฒนาเป็นรายบุคคล ได้รับการดูแลในรูปแบบครอบครัวโดยอยู่กับพ่อหรือแม่ 228 คน อยู่กับครอบครัวเครือญาติ 153 คน อยู่กับครอบครัวเพื่อนบ้าน 2 คน และอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เป็นเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ 5 คน มีการจัดบริการสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพจิต ร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจทั้งเด็กและผู้ปกครองให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขภายใต้โครงการ 1 บ้าน 1 โรงพยาบาล หรือ One Home One Hospital มีเด็กกำพร้า 319 คน
ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างดำเนินการ ด้านการศึกษาและการพัฒนา ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และการดูแลด้านสวัสดิการสังคม โดยกองทุนคุ้มครองเด็กให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้ารวม 59 ราย และปี 2565 กองทุนฯ อนุมัติช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้ว 15,855,300บาท มีเด็กได้รับความช่วยเหลือ 2,364 ราย ได้รับเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน 208 ราย และเงินสนับสนุนค่าตอบแทนและอุปกรณ์ป้องกันโรค แก่ครอบครัวอุปถัมภ์จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมถึงมีการระดมทรัพยากรภายใต้กิจกรรมเปิดเทอมใหม่ ปันน้ำใจ ส่งน้องไปเรียน (Back to School) เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาและสิ่งของพื้นฐานตามช่วงวัยสำหรับเด็กกำพร้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 161 คน ประกอบด้วยจังหวัดยะลา 66 คน ปัตตานี 57 คน และนราธิวาส 38 คน
สำหรับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน มีเด็กติดเชื้อรวม 234,790 คน แบ่งเป็น กทม. 27,156 คน และส่วนภูมิภาค 207,634 คน โดยจังหวัดที่มีเด็กติดเชื้อเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีมากกว่าวันละ 400 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นเดือนที่มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงวันละประมาณ 4,000 – 5,000 คน และลดลงในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีสถิติที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน
ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อสายพันธ์โอมิครอนจะมีอาการไม่รุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในภาพรวมไม่สูงมาก จึงไม่ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ การติดเชื้อและเจ็บป่วย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางและจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจึงมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เมื่อเด็กติดเชื้อ หรือคนในครอบครัวติดเชื้อ เด็กจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งมีกรมการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันราชานุกูล เป็นหลักในการดูแลเด็กป่วย โดย “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด” จะเป็นศูนย์ในการประสานและส่งต่อไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำกรณีกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การประสานหาเตียง การส่งยา การคัดกรองเชิงรุก การปฐมพยาบาลเยียวยาจิตสังคม การแสวงหาอาสาสมัครดูแลเด็กและครอบครัวอาสาสมัคร และการจัดให้มีศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็กแห่งนี้
โดยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและกลุ่มคลองเตยดีจัง เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา และไม่ต้องโดดเดี่ยว กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กอายุ 1 – 15 ปี และแม่ของเด็ก (ผู้ป่วยสีเขียว ไม่สามารถดูแลได้ที่บ้าน และสามารถดูแลตนเองได้) มีห้องพักรองรับได้รวม 52 คน (ตอนนี้เด็กหายและกลับบ้านหมดแล้ว)
ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน นอกจากมีบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด เป็นหน่วยแรกรับและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเฉพาะหน้าตามความเหมาะสมแล้ว กระทรวงฯ ได้จัดให้มีผู้จัดการรายกรณี Case Manager เป็นทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่กรณีมีการแจ้งเหตุขอรับความช่วยเหลือครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญได้จัดให้มีสถานดูแลเด็กเพิ่มเติม 2 ประเภทเพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ได้แก่ สถานที่กักตัวแห่งรัฐ State Quarantine โดยจัดตั้งศูนย์แรกรับเด็กและครอบครัว
โดยความร่วมมือกับจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ภายในสถาบันพระประชาบดี จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับเด็กและครอบครัวในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในระยะกักตัว รองรับได้ 50 คน และพร้อมเปิดให้บริการแล้ว สถานดูแลเด็กเพื่อดูแลเด็กไม่ติดเชื้อ หรือพ้นระยะกักตัว และขาดผู้ดูแล จำนวน 2 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช จ.ปทุมธานี รับเด็กชาย อายุ 6 - 8 ปี จำนวน 25 คน และสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี รับเด็กหญิงและเด็กชาย อายุ 6 - 18 ปี จำนวน 25 คน ทั้ง 2 แห่ง รวมรับได้ 50 คน
ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเด็ก หากพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งเหตุผ่าน สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม. - Line Official “savekidscovid19” - แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรศัพท์ 06 5506 9574 และ 06 5506 9352 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.