จากเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดทีมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา สังกัดกรมเด็กฯ ในจังหวัดหนองบัวลำภูและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองบัวลำภู ลงพื้นที่ให้คำแนะนำปรึกษา ปลอบขวัญแก่ผู้ปกครองเด็ก รวมทั้งดูแลสภาพจิตใจของเด็กที่ประสบเหตุการณ์ ในเย็นวันนั้นทันที โดยได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานส่วนต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนี้
- ประชุมร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพื่อวางแนวทางในการเยียวยาสภาพจิตใจ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในภาวะวิกฤติ
- แบ่งทีมปฏิบัติการพูดคุย ปลอบประโลมใจ พร้อมแนะนำตัวเองและให้เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งมีผู้ปกครองโทรมาสอบถามเรื่องการรับศพไปบำเพ็ญกุศลเป็นส่วนใหญ่ และระบายความรู้สึกให้กับนักสังคมสงเคราะห์ฟัง โดยนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักพัฒนาสังคม พม. ได้ให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิดตามหลักการให้คำปรึกษา จนผู้ปกครองและครอบครัวมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
- ร่วมประชุมกับ ผบ.ตร. และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์และแผนการให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง พม.ได้นำเสนอเรื่องทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ที่จะร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเยียวยาสภาพจิตใจ พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวง พม.
- ประสานหน่วยงานยุติธรรมจังหวัด โดย พม. ทำหน้าที่ประสานนัดหมายให้ญาติผู้เสียชีวิตมายื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ที่ห้องประชุม อบต.อุทัยสวรรค์ ในวันศุกร์ ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ระหว่างเวลา 09.00 – 10.00 น.
- ประธานองคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พร้อมด้วยองคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต รองปลัด พม. รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเยี่ยมผู้บาดเจ็บ 5 ราย เป็นเด็ก 3 ราย ผู้ใหญ่ 2 ราย และเยี่ยมครอบครัวผู้บาดเจ็บซึ่งท่านประธานองคมนตรีได้แจ้งกับครอบครัวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผู้บาดเจ็บทั้งหมดเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ และค่าจัดศพผู้เสียชีวิตทุกราย พร้อมทั้งพระราชทานเพลิงศพให้ทุกราย
สำหรับแผนของ พม. ในการช่วยเหลือครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
การช่วยเหลือเบื้องต้น
- จัด Case Manager รายครอบครัว รวมทั้งสิ้น 39 ทีม ในการช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสภาพปัญหาและความต้องการ
- พิจารณาการเยียวยาด้านการเงินแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยา 110,000 บาท ในส่วนผู้บาดเจ็บจะมีการพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือรายกรณี
- ช่วยเหลือโดย พม.เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 จำนวนเงิน 3,000 บาทต่อครอบครัว
การช่วยเหลือระยะยาว
- ผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) เยี่ยมบ้าน สอบถามสภาพปัญหาและความต้องการ ประเมินสภาพปัญหาและวางแผนการให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการของ พม. อาทิ กรณีมีผู้สูงอายุ คนพิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน
- พิจารณาให้การช่วยเหลืออย่างครบวงจรใน 5 มิติ ประกอบด้วย การศึกษา อาชีพและรายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงสิทธิบริการภาครัฐ รวมถึงการจ่ายเงินอุดหนุนตามประเภทต่าง ๆ ตามสภาพปัญหาและความจำเป็นรายกรณี
- ติดตาม ประเมินผล และรายงานอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ และคุณภาพชีวิตจนกระทั่งครอบครัวสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
.....................................................................