วันนี้ (28 ต.ค. 65) เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) สำหรับผู้มีหน้าที่คัดแยก (Competence Authority) จัดโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ประเทศไทย โดยมีนางสาวเจราดีน อองซาร์ด หัวหน้าสำนักงานไอโอเอ็ม ประเทศไทย กล่าวต้อนรับ นางภิญญา จำรูญศาสน์ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. และนายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ แนวทางการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ และบทบาทหน้าที่ของผู้มีหน้าที่คัดแยก ให้กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 95 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว ชลบุรี ตราด จันทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย และตาก ประกอบด้วย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหรือตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และปลัดจังหวัดหรือผู้แทน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในฐานะผู้มีอำนาจในกระบวนการคัดแยกตามกลไกการส่งระดับชาติ ณ ห้อง Grand Hall II โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายอนุกูล กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานประสานงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บูรณาการการทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สำหรับประเด็นการคัดกรองคัดแยกระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ นับเป็นประเด็นที่เป็นข้อท้าทายในการทำงาน ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้รับความร่วมมือจาก ไอโอเอ็ม ประเทศไทย ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์กลไกการส่งต่อระดับชาติของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดย และได้มีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2565
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า อีกทั้ง รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2022 มีการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นจากระดับ Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่า ในภาพรวม รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งได้กล่าวถึงพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย โดยมีการจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติเสร็จสมบูรณ์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกระดับ Tier 2 รวมไปถึงข้อสั่งการของ ปคม. ที่ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติสำหรับทุกหน่วยงาน เพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของประเทศไทย