วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 15.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567 โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนเอกชนกว่า 10 กลุ่ม ธุรกิจ 20 เครือ 18 บริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ผู้ผลิตสินค้า ค้าปลีก-ค้าส่ง โรงแรม หมู่บ้าน-คอนโด ปั้มน้ำมัน สายการบิน แพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมแปรรูป-ส่งออก และนิคมอุตสาหกรรม และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมด้วย ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ทุกหน่วยงานได้รับข้อสั่งการจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมไปถึงสินค้าอาหารที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน
”ทุกส่วนจะร่วมกันบริหารจัดการ สร้างสมดุลทุกฝ่าย ให้กระจายสินค้าได้ทั่วถึง ให้คนไทยมีโอกาสบริโภคผลผลิตมากขึ้น บริหารสินค้าตามไทม์ไลน์ของผลผลิตในแต่ละเดือน ถ้าจะล้นตลาดจะบริหารจัดการร่วมกัน ทำงานเชิงรุกว่าแต่ละเดือนส่วนไหนต้องการสินค้าประเภทอะไร จะนำไปขาย แจกจ่ายหรือดูแลหน่วยราชการ อาทิ กองทัพ ราชทัณฑ์ เป็นต้น เชื่อว่าทั้งปี จะสามารถควบคุมสินค้าให้มีราคาที่เหมาะสม แก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้ดีมากขึ้น ทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันเชื่อมโยงกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และกระทรวงการคลังรับไปจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาจุดสมดุลอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน ภายใต้นโยบายที่เราส่งเสริมคนตัวใหญ่และสนับสนุนคนตัวเล็กให้อยู่ได้ มีศักยภาพที่สูงขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทุกส่วนอย่างสมดุล“นายภูมิธรรม กล่าว
สำหรับมาตรการดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการผ่าน 8 กลไก ได้แก่ 1.การกระจายออกนอกแหล่งผลิต 2.การเชื่อมโยงต้นทาง-ปลายทาง 3.การทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า 4.การผลักดันส่งออก 5.การส่งเสริมการแปรรูป 6.การรณรงค์บริโภค 7.การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง และ 8.ความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร
ทั้งนี้ ได้มีการนำร่องดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ ผัก พืช 3 หัว (หอมใหญ่ กระเทียม หอมแดง) โดยจะร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนยักษ์ใหญ่กว่า 10 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 18 บริษัท ซึ่งมีความยินดีช่วยเชื่อมโยงรับซื้อผลผลิตพืชเกษตรตัวรองจากเกษตรกรในเบื้องต้น รวมปริมาณกว่า 313,000 ตัน เสริมเพิ่มเติมจากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการไว้ก่อนหน้าแล้ว 1.344 ล้านตัน รวมปริมาณทั้งสิ้น 1.657 ล้านตัน และยังมีภาคเอกชนรายใหญ่อื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเชื่อมโยงรับซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคต ส่วนสินค้าผลไม้ จะมีการติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต และการตลาดผลไม้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย ลองกอง ที่จะออกสู่ตลาดมากในระยะต่อไปกว่า 3 ล้านตัน
สำหรับปี 2567 ผลผลิตผลไม้ได้ออกสู่ตลาดเกินกว่าครึ่งทางแล้ว พบว่า ราคาดีทุกตัว ไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เป็นผลจากที่รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2567 ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 รวมถึงการจัดคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปเจรจาเรื่องด่านกับรัฐบาลจีน ในช่วงก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ส่งผลให้ภาคการส่งออกมีความคล่องตัว ไม่ติดขัด
ในปี 2567 พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง มีจำนวน 18 ชนิด คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 7.5 ล้านตัน แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม
#กระทรวงพาณิชย์ #MOCThailand #MOC #ข่าวเศรษฐกิจ