จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘NPRCT – CU Symposium 2023’ ด้านยาและวัคซีนครั้งใหญ่ ระดมนักวิจัยและนักวิชาการนานาประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือใหม่ พร้อมโชว์งานวิจัยยาและวัคซีนในยุคโควิด-19 ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เร่งเดินหน้าสู่ศูนย์วิจัยฯ ระดับโลก
ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “NPRCT – CU Symposium 2023” ภายใต้หัวข้อ ”บทบาทของไพรเมทที่ไม่ใช่มนุษย์ต่อการพัฒนายาและวัคซีนในยุคโควิด-19” (Roles of non-human primates on drug and vaccine development during the COVID-19 era” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เพื่อแสดงถึงศักยภาพของศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อตั้งมาครบ 11 ปี ว่ามีความพร้อมและประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกตื่นตัวอย่างมากในการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย ทั้งยาและวัคซีน สำหรับนำมาใช้ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในมนุษย์ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมทในการศึกษาค้นคว้า จึงได้รับโอกาสจากหน่วยงานภายในประเทศที่คิดค้นวัคซีน สำหรับยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพเทียบเท่าบริษัทผลิตวัคซีนชั้นนำในต่างประเทศ สำหรับนำมาผลิตในเชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้ศูนย์ฯ เป็นที่รู้จักจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายงานวิจัยกับหน่วยงานต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย เนื่องจากศูนย์ฯ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลคือ AAALAC International และ OECD-GLP มาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ดีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงทำให้ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่ามีคุณภาพ และโดยหลักการพัฒนายาและวัคซีน จะต้องมีการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพว่ามีความสามารถป้องกันโรคได้จริงและมีความปลอดภัยในการใช้ จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบกับลิงซึ่งใกล้เคียงกับคนก่อนนำมาใช้
“จากที่เรามีศูนย์วิจัยฯ จึงทำให้เราเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถนำวัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านการทดสอบจากศูนย์วิจัยฯ ไปทำการทดสอบต่อในคนได้ทันที เพราะเราเป็นศูนย์วิจัยฯ ที่ได้มาตรฐานทำให้ได้ข้อมูลที่ทำการทดสอบในสัตว์ เพื่อจะนำไปใช้ในคนได้อย่างปลอดภัย และจากสถานการณ์ระบาดของโรควิด-19 ทำให้เรามีโอกาสทำงานวิจัยกับนานาประเทศ อาทิ เยอรมนี จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย” ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าว
สำหรับงานประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจในการพัฒนายาและวัคซีนในระดับต่างๆ และเป็นโอกาสให้ศูนย์ฯ ประกาศศักยภาพให้นานาประเทศได้รับรู้ว่าประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ยาและวัคซีนที่ทำการทดสอบและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ เช่น โรคโควิด-19 และวัณโรค เป็นต้น ส่วนที่สอง เป็นงานวิจัยที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ เช่น เบาหวาน ความดัน ซึ่งทั้งสองกรณีมีความสำคัญและจำเป็นต้องพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อประชากรของโลกเข้าสู่ช่วงสูงวัยมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ กับ 3 สถาบันจากต่างประเทศ ดังนี้ 1.Center of the Evolutionary Origins of Human Behavior (EHUB) ศูนย์ต้นกำเนิดวิวัฒนาการพฤติกรรมมนุษย์ EHUB มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เพื่อประสานความสัมพันธ์ด้านงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับสัตว์กลุ่มลิง เนื่องจากศูนย์นี้เป็นหน่วยทดสอบด้านลิงอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น 2.Department of Parasitology, National Institute of Infectious Diseases (NIID) ภาควิชาปรสิต สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIID) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งงานแรกที่ทำร่วมกันคือโรคมาเลเรีย เนื่องจากประเทศไทยมีลิงที่ติดเชื้อมาเลเรียจากธรรมชาติ จึงคิดหาแนวทางรักษาและมุ่งหวังว่าหากสามารถคิดค้นยารักษามาเลเรียในลิงจะทำให้ได้องค์ความรู้ เพื่อนำมารักษาโรคมาเลเรียในคนในลำดับต่อไป และ3. School of Pharmacy, Sungkyunkwan University คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยซองคยุนควน ประเทศเกาหลีใต้
“เห็นได้ว่าการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงศักยภาพของงานวิจัยพื้นฐานที่รัฐบาลมีการลงทุน ซึ่งศูนย์ฯ ได้นำงานวิจัยนั้นมาใช้ประโยชน์ และการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า หากประเทศไทยไม่มีงานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้ปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเนื่องจากโครงสร้างการทำงานด้านการวิจัยของประเทศไทยที่วางไว้ทำให้ที่ผ่านมาเกิดการพัฒนางานอย่างรวดเร็ว เกิดการขับเคลื่อนได้ทันต่อสถานการณ์ ประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น เพราะมีงานวิจัยจากประเทศต่างๆ หลั่งไหลเข้ามามากมาย เช่น ที่กำลังเจรจาอยู่มาจากเกาหลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าว
ด้านศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าวต่อว่า การก้าวไปสู่ระดับโลกของศูนย์ฯ นอกจากจะเป็นแห่งเดียวในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก ศูนย์ฯ ยังมีการร่วมมือกับหน่วยวิจัยในระดับต่างๆ โดยมีการทำงานเป็นเครือข่าย ที่เรียกว่า Thailand OECD - GLP Preclinical Testing Network (TOPT) ซึ่งในอนาคตมุ่งหวังว่าหากมีผู้ประกอบการต้องการทดสอบผลิตภัณฑ์ใดๆ ในสัตว์ก่อนที่จะนำไปใช้ในคน สามารถนำมารับบริการ โดยจะมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงส่งต่องานกันซึ่งไม่ใช่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังร่วมกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน ปัจจุบัน แนวทางการดำเนินงานเช่นนี้ของศูนย์ฯ เป็นการขับเคลื่อนระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ก้าวต่อไประดับโลกได้ในอนาคต
“บทบาทด้านนี้จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ตามมามากมายแน่นอน ในด้านเศรษฐกิจ หากเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ประโยชน์อย่างแรกคือลดการนำเข้า และหากเราสามารถไปได้ไกลกว่านั้นคือการส่งออก ก็จะสร้างรายได้อย่างมากให้กับประเทศ ประโยชน์อีกด้านที่สำคัญคือความเท่าเทียมในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์หากเราสามารถผลิตได้จะทำให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม” ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าวทิ้งท้าย