ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้ ดร.กร จันทรวิโรจน์ ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน “U2T for BCG บทเรียนจากอดีต สู่ความต่อเนื่องยั่งยืน” ที่ศูนย์สินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (IN-C Coffee) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ต.แม่ทราย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายจัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังถือเป็น 1 ใน 4 จังหวัดเป้าหมายประกอบด้วย จ.แพร่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และจ.จันทบุรี ที่ อว.จะถอดบทเรียนโครงการ U2T for BCG ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มโครงการถึงปัจจุบันว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และจะนำมาปรับปรุงอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต
โดย ดร.กร จันทรวิโรจน์ ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG เป็นโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ โครงการ U2T โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการ (System Integrator) การจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน
ทั้งนี้ งานวันที่ 8 พ.ค.นี้ มีการเสวนาในหัวข้อ “U2T for BCG บทเรียนจากอดีต สู่ความต่อเนื่องยั่งยืน” โดยผู้แทนเครือข่ายการดำเนินงานของ อว.(คลินิกเทคโนโลยี/Science park /OTOP /UBI) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และตัวแทนผู้ประกอบการด้วย
“ผมหวังว่าการร่วมกันถอดบทเรียนภาพรวมผลการดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา จะนำปัญหาและอุปสรรคที่พบระหว่างการดำเนินงานมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานและพัฒนาโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของเครือข่าย อว. เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม พร้อมขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างชีวิตใหม่ สร้างผู้ประกอบการมืออาชีพในแต่ละตำบล และทำให้เกิดการสานต่อผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม”
ดร.กร กล่าวว่า ที่ผ่านมา อว.ได้เห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลว่ามีศักยภาพ ทั้งในด้านทุนทางมนุษย์ ทุนประวัติศาสตร์ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางประเพณีวัฒนธรรม และทุนอื่นๆ มากมาย ที่นำมาสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและยกระดับให้เกิดมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้า BCG เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนนี้ อว.ก็พร้อมปูพรมกิจกรรม “U2T for BCG บทเรียนจากอดีต สู่ความต่อเนื่องยั่งยืน” ต่อเนื่องในทุกพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกด้วย โดยวันที่ 10 พ.ค.จะจัดที่มหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี วันที่ 11 พ.ค.จัดที่หมู่บ้านเอื้ออาทรระยอง(วังหว้า) ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง และวันที่ 12 พ.ค.จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี