วันนี้ (4 เม.ย. 66) เวลา 09.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพรองรับสังคมสูงวัย” พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพรองรับสังคมสูงวัย” ผ่านการบันทึกวีดีทัศน์ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการรับมือสังคมสูงวัยของประเทศไทย” และนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวต้อนรับสมาชิกสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรมูลนิธิ สาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ชมรมผู้สูงอายุทุกจังหวัด สมัชชาสุขภาพจังหวัด สภาเด็กและเยาวชน และภาคประชาชน รวมจำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม ที เค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ และประชุมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 500 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ด้วยปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete- aged Society)” คือมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 20.1 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged Society)” คือมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา เป็นจำนวนเงิน 3,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีการจัดแผนงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 6 กระทรวง 17 หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ
สำหรับอนาคต ในความคิดเห็นของตนเห็นว่าต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้อเท็จจริงของงบประมาณ นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในการมีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจตนเอง ครอบครัว และสังคม ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อีกทั้งส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 40,000 ชมรม ให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นกลไกลเติมเต็ม 4 มิติทั้งด้านอาชีพเสริมรายได้ สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ มารับฟังข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่มว่า มีวัตถุประสงค์ต้องการอะไรบ้าง ซึ่งไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบและไม่หนีปัญหา แต่ต้องให้รู้ถึงข้อจำกัดของการคลัง นโยบายสาธารณะที่มี ถ้าหากประชาชนพร้อม รัฐบาลพร้อม ก็มอบหมายให้กระทรวง พม. มาดำเนินการ สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้มีการจ่ายบำนาญทั่วหน้าสำหรับผู้สูงอายุเป็นเงิน 3000 บาทต่อเดือนนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า บำนาญทั่วหน้ามีจากหลายสูตรคำนวณ เช่น งบประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ บวกกับเงินโดยสมัครใจที่จะมาสมทบ บวกกับภาษีพิเศษ ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้ทำพื้นฐานในการเพิ่มรายได้ของรัฐ แต่ยังไม่พอกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่และเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีทรัพย์สิน ภาษีตลาดหลักทรัพย์ ที่จัดเก็บจากผู้มีรายได้มาก และจะต้องขอความคิดเห็นจากประชาชน ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ล้วนเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถผลักภาระให้กับประชาชนได้ในทันที เพราะว่าต้องครอบคลุมหลายมิติ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เรียกร้อง ยังมีเด็กและคนพิการที่เรียกร้องสิทธิทั่วหน้าเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องทำในสิ่งที่จำเป็นคือ คือคนที่ลำบากที่สุด ต้องได้รับความช่วยเหลือก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงจัดสรรแบบถ้วนหน้าไม่ได้ แต่อาจจะเป็นไปได้ ถ้าหากมีการปรับโครงสร้างทั้งระบบ เช่น การปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีท้องถิ่น ซึ่งคนไทยจะพร้อมจ่ายหรือไม่ และถ้าจ่ายเพิ่มขึ้น ทุกคนจะเดือดร้อนหมด แต่จะทำอย่างไรที่ต้องหาจุดสมดุลตรงกลาง ซึ่งไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้หมดแล้วต้องรักษาความถูกต้องของคนส่วนใหญ่เอาไว้ ทั้งนี้ มองว่าควรขยับปรับเป็นขั้นตอนตามความพร้อมของเสถียรภาพการคลัง
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสมัชชาฯ ในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมประชาสัมพันธ์ มูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมือง (โครงการจุฬาอารี) และสำนักงานประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับปฏิบัติการ เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุและคนทุกวัย โดยมีการประชุมฝน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การพัฒนาระบบ และกลไกการบูรณาการบริการสังคม และสุขภาพ เพื่อการพัฒนาผู้สูงอายุไทย และ 3) เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการรองรับสังคมสูงวัย
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม
######################