วันนี้ (29 เม.ย. 66) เวลา 10.00 น. ณ โรงแรม ณ เวลา อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จุดดำเนินการที่ 5 จังหวัดราชบุรี ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน
โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอังกูร ศีลาเทวากูล นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางพัสตราภรณ์ แดงเทศ รองผู้อำนวยการสถาบันสิริกิติ์ คณะผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และสื่อมวลชน ในเขตพื้นที่ภาคกลาง กว่า 300 คน ร่วมในพิธีฯ โดยได้รับเกียรติจาก "คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ร่วมเป็นวิทยากร
"ตนดีใจทุกครั้งที่ได้มาพบปะกับพี่น้องช่างทอผ้าและข้าราชการผู้ทำหน้าที่เสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศชาติ เพราะเมื่อได้เห็นสีหน้าท่าทาง เห็นแววตาแห่งความสุขของทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทั้งช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ที่ได้นำสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทาง มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง จนทำให้มีโอกาสใช้ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยเป็นเครื่องมือในการหารายได้เสริมให้กับครอบครัว และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งต่อไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลาน" ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า "โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" เป็นโครงการในพระดำริที่มุ่งส่งเสริมให้พวกเราคนไทยทุกคนได้สวมใส่ผ้าไทยในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ หลากหลายรสนิยม ซึ่งคนทุกเพศ ทุกวัย จะนิยมชมชอบและใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสได้นั้น การย้อมผ้าให้มีลวดลายที่หลากหลายและออกแบบตัดเย็บให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ ถูกอกถูกใจคนซื้อ เป็นสิ่งที่สำคัญ จึงเป็นที่มาของการเชื้อเชิญนักออกแบบและผู้ทรงคุณวุฒิด้านผ้าไทยมาเป็นโค้ชอบรมถ่ายทอดให้ความรู้แก่ช่างทอผ้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้าไทย เพื่อให้มีทักษะ มีความรู้ไปสร้างอาชีพที่มั่นคง เพิ่มพูนรายได้ ทำให้มีเงินทองจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวที่มากขึ้น และยั่งยืน
นอกจากนี้ พระองค์ทรงสอนให้พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวของเรา ให้เห็นความสำคัญของการใช้สีธรรมชาติ และปลูกไม้ให้สีทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น ใช้กี่ทอมือ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคง เพราะวงจรชีวิตของผ้าไทยมาจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ไม้ให้สี พอทอผ้าเสร็จเป็นผืน ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้าก็จะได้ประโยชน์ รวมถึงทรงส่งเสริมเรื่องการตลาด ให้พวกเรารู้จักจดข้อมูล เล่าเรื่อง (Story Telling) พัฒนารูปแบบ Packaging และจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการสวมใส่ผ้าไทยเป็นวิถีชีวิตในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน และถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน คนรุ่นต่อไป เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยไปชั่วกาลนาน โดย "ข้าราชการ" ต้องเป็นผู้นำองค์ความรู้ไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้ตระหนักว่า ขณะนี้ พระองค์ได้พระราชทาน Sustainable Fashion จนได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ว่าผ้าไทยช่วยให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และได้พระราชทานพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ทั้งการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองและทางนี้มีผลผู้คนรักกัน" การรักษาสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นมนุษย์ 3Rs : Reduce Reuse Recycle ชุมชนมีความปลอดภัย มีความรัก ความสามัคคี สื่อสารถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีไปสู่ลูกหลานสู่เยาวชนต่อไป
"สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทุ่มเทพระวรกาย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ โดยทรงนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงงานเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ทรงได้รับการถ่ายทอดจากสมเด็จย่าโดยตรง รวมทั้งทรงได้รับการบ่มเพาะความรู้และทักษะจากการศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศฝรั่งเศส และทรงนำวิชาการศิลปะงานแฟชั่นมาทรงทดลองทำและทรงงานในฐานะศิลปินภายใต้ชื่อ SIRIVANNAVARI ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อทำให้พี่น้องคนไทยมีรายได้ที่ดี ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการที่คนไทยได้เป็นผู้รักษามรดกอันล้ำค่า คือ "ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยอื่น ๆ" ที่จะผลิตออกมาจำหน่าย โดยทรงคิดค้นและพระราชทานลายผ้า "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ", "ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา", "ลายดอกรักราชกัญญา" และลวดลายผ้าบาติก เช่น ลายป่าแดนใต้ ลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ลายท้องทะเลไทย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจากแรงบันดาลพระทัยที่อยากช่วยเหลือพวกเรา และขอให้ได้ช่วยกันถ่ายทอดส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำลายผ้าพระราชทาน มาพัฒนาต่อยอดเสริมเติมแต่งสร้างผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่สวยงามและมีคุณภาพส่งเข้าประกวดและจำหน่ายสร้างรายได้ที่ยั่งยืน" ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า "พวกเราโชคดีที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย" ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตรากตรำพระวรกาย เป็นเวลากว่า 70 ปี โดยในแต่ละวัน พระองค์จะทรงงานตั้งแต่กลางวันยันดึกดื่น ด้วยพระราชดำริ "ขาดทุนคือกำไร" ขาดทุนของพระองค์ท่านคือกำไรของประชาชน เพราะทรงเล็งเห็นว่า ผ้าหนึ่งผืนคือวัฒนธรรมพื้นถิ่นนั้นที่จะสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน จึงทรงรื้อฟื้นผ้าไทยให้กลับคืนสู่สังคมไทย เปลี่ยนแปลงชีวิตสตรีจากทำไร่ ทำนา อยู่บ้านเลี้ยงลูก ให้ได้มีอาชีพเสริม มีรายได้ แม้ว่าทุกวันนี้พระองค์ท่านไม่สามารถทรงงานได้เหมือนในอดีต แต่ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงต่อยอดพระราชดำริโดยพระราชทานลายผ้า "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" มาชุบชีวิตคนทอผ้าในยามวิกฤตโควิด-19 และเกิดประโยชน์กับทุกคนจวบถึงทุกวันนี้ จึงขอให้พวกเราลุกขึ้นก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มที่เราก่อน เราต้องสร้าง branding เราให้ได้ และเมื่อผ้าเรามีลวดลายสวย ออกแบบตัดเย็บดี ตรงใจผู้บริโภค ก็จะทำให้ผ้าของเราเป็นต้นน้ำที่มีคุณค่า
"จาก 200 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 20 กว่าประเทศที่มีวัฒนธรรมการทอผ้า มีผ้าของตัวเอง ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ จึงขอให้พี่น้องสตรีผู้สืบสานงานทุกท่าน ได้ทำหน้าที่สตรีให้ครบถ้วนทั้ง 4 ประการ คือ พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ ทำหน้าที่แม่บ้านให้สมบูรณ์ รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ตั้งใจศึกษาเรียนรู้ ทำให้มีผลงานที่มีคุณภาพตรงตามเป้าหมาย ใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอน และร่วมกันสมัครเข้าแข่งขันกันให้มากที่สุด" ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ศรินดา จามรมาน กล่าวว่า ขอให้ทุกท่านได้ใช้เวลาที่มีค่าเพื่อร่วมกันสนองพระดำริ ตั้งใจผลิตอย่างดีที่สุด เพื่อให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรผลงานของพวกเรา และขอให้ทุกท่านได้มุ่งมั่นพัฒนา สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ยกระดับผลงานให้เป็นที่แพร่หลายออกสู่ตลาดอย่างเต็มกำลังความสามารถ และสมัครเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนา
นายศิริชัย ทหรานนท์ กล่าวว่า ในวันนี้ คณะทำงานฯ ทุกคน ตั้งใจมาถ่ายทอดทักษะองค์ความรู้ ลงมาโค้ชชิ่ง ให้คำปรึกษาอย่างลึกซึ้ง ละเอียดทุกแง่มุม จึงขอให้ทุกท่านได้ตั้งใจฝึกอบรมและนำความรู้เหล่านี้ไปทำงานสร้างสรรค์ผืนผ้า ส่งผ้าเข้าประกวดให้ได้มากที่สุด และต้องช่วยกันเชิญชวนเด็กรุ่นใหม่ส่งผลงานมาให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีผลงานสวยงามที่สร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ๆ
ดร.กรกลด คำสุข กล่าวว่า แม้ว่าช่างทอผ้าหลายท่านจะพูดกันว่า ผ้าลายดอกรักราชกัญญามีการใช้เทคนิคที่ยากกว่าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และลายขิดนารีรัตนราชกัญญา แต่หลังจากโค้ชชิ่งหลายจังหวัดแล้วพบว่า ช่างทอผ้าทุกคนสามารถทำได้ สามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคจนทำลวดลายได้ จึงขอให้ได้ใช้ความมุ่งมั่น ใช้ทักษะ ศักยภาพที่มี พัฒนาฝีมือ ลงมือทำให้สอดคล้องกับกติกา
ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน กล่าวว่า การจัดโครงการฯ ในวันนี้ ทำให้ทุกท่านได้มีโอกาสที่ดีแล้ว ส่วนที่สำคัญ คือ ต้องถ่ายทอดโอกาสที่ดีนี้ไปสู่คนรุ่นหลังรุ่นต่อไป ด้วยการนำเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมทีม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอด สืบสาน ส่งต่อต่อไป และต้องพึงระลึกเสมอว่า การประกวดแพ้ชนะไม่สำคัญ แต่เป็นการทำให้เราใช้เวลาที่จำกัดในการทำผลงานที่ดีขึ้นมา แม้จะตกรอบก็มีประโยชน์
นายภูภวิศ กฤตพลนารา กล่าวว่า ขอให้ทุกคนภูมิใจในการประกอบอาชีพการทอผ้า และเชื่อมั่นในตนเองว่า ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ความเป็นเลิศที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว และมุ่งมั่นต่อยอดให้มีผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มพูนขึ้น ส่งเข้าประกวดให้มากที่สุด
ด้านนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ กล่าวว่า จังหวัดราชบุรี มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ไทยวน ไทยทรงดำ ไทยกระเหรี่ยง ไทยมอญ เขมรลาวเดิม ลาวเวียง ไทยจีน ซึ่งความแตกต่างของหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ทำให้จังหวัดราชบุรี มีผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า จำนวน 311 ผลิตภัณฑ์ และมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าทอ จำนวน 54 ราย โดยจังหวัดราชบุรีได้ดำเนินการส่งเสริมผู้ผลิต ผู้ประกอบการในการนำลายผ้าพระราชทานเป็นต้นแบบในการพัฒนาลายผ้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน ซึ่งในปี 2565 จังหวัดราชบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประเภทผ้าจก จากการประกวดการทอผ้าลายพระราชทาน "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" แก่กลุ่มณัฐธภาผ้าจกทอมือ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี