วันที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางและการซักซ้อมความเข้าใจในการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดต้นสังกัด ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน โดยมีนายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นายเกียรติปราโมทย์ ฉายศรี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ และนายไพโรจน์ โสภาพร พัฒนาการจังหวัดหนองคาย เข้าร่วมประชุมฯ กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับประชุม ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ คณะพี่เลี้ยง และพัฒนากรบรรจุใหม่
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับ น้อง ๆ พัฒนากรใหม่ทุกคน ที่ได้รับบรรจุแต่งตั้ง ให้รับราชการในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนหรือ "พัฒนากร" ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทาง และซักซ้อมความเข้าใจในการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการพัฒนากรก่อนประจำการ รุ่นที่ 123 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ให้มีศักยภาพ และพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีในตัวท่านไปสู่ชุมชน ด้วยอุดมการณ์แห่งนักพัฒนา ภายใต้การพัฒนาด้วยระบบ "พี่เลี้ยง" ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนักพัฒนาที่มาจากเมล็ดพันธุ์นักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่
โดยนำกระบวนการพัฒนาภายใต้ระบบพี่เลี้ยง หรือ Mentoring System ในการพัฒนานักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ โดยผู้ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยง (Mentor) มีบทบาทในการเป็นแบบอย่างที่ดี การส่งเสริม สนับสนุนการสร้างและรักษาสัมพันธภาพและกระตุ้นให้น้องเลี้ยง (Mentee) มองเห็นศักยภาพของตัวเอง และสามารถพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำหน้าที่ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนานักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ ให้มีสมรรถนะเพียงพอพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและก้าวทันกระแสโลกาภิวัฒน์ เพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการทำงานให้ประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาไปสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างแท้จริง และระบบพี่เลี้ยงหรือ Mentoring System คือกลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในตำแหน่ง "พัฒนากร" ให้เป็นนักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ที่มีศักยภาพ บรรลุผลตามเป้าประสงค์ และจะยังส่งผลให้อุดมการณ์แห่งนักพัฒนาได้ฝังรากลึกลงไปในใจพัฒนากรรุ่น 123 ซึ่งท่านจะเป็นความหวังของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยและของประเทศชาติในการต่อไป
ด้านนางสาวมนทิรา เข็มทอง ได้กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน มอบให้สถาบันการพัฒนาชุมชนทำหน้าที่ในการเสริมสร้างสมรรถนะข้าราชการบรรจุใหม่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติราชการ ตามกฎ ก.พ.ข้อ 8 ซึ่งระบุให้มีการพัฒนาข้าราชการตามกระบวนการ ใน 3 ขั้นตอน คือ การปฐมนิเทศ ดำเนินการโดยกองการเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 การเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการเรียน E-Learning จำนวน 13 ชุดวิชา ของก.พ. และการอบรมสัมมนาร่วมกัน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
สำหรับกระบวนการการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้แบ่งเป็น 2 กระบวนการ คือ กระบวนการเรียนรู้ของพี่เลี้ยง (Mentor) พร้อมจัดทำคู่มือ ในการศึกษาเรียนรู้การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทิศทางการพัฒนาจังหวัด โครงสร้างองค์กร ภารกิจงานในความรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่ของพัฒนากร และฝึกปฏิบัติการเรียนรู้การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ลงพื้นที่เรียนรู้งานกลุ่ม องค์กร เครือข่ายชุมชน ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ จำนวน 35 วัน และกระบวนการอบรมสัมมนาร่วมกัน โดยแบ่งเป็นภาควิชาการ 17 วัน ภาคสนาม 17 วัน และภาคสรุป 6 วัน รวมจำนวน 40 วัน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน โดยสถาบันการพัฒนาชุมชนจะดำเนินการติดตามนิเทศข้าราชการบรรจุใหม่ จำนวน 3 ครั้ง ตลอดการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ