นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 3 กำหนดให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อม กัญชา กันชง เป็นยาเสพติด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สามารถประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งไม่มีพืชกระท่อม กันชา กันชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา กันชง เป็นยาเสพติด จึงส่งผลให้ผู้ใช้พืชกระท่อม กัญชา กันชง ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยกำหนดว่าห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา และห้ามจำหน่ายในวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเด็กและเยาวชนยังคงใช้พืชกระท่อม กัญชา กันชง ได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กันชง ในลักษณะสารเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการด้านสมองของเด็กและเยาวชน จึงได้เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 โดยสาระสำคัญที่มีการปรับแก้ไขคือ การกำหนดให้เด็กที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กันชง ในลักษณะของสารเสพติดเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 สามารถใช้มาตรการทางสังคมตามที่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ ดังนี้ (1) เชิญเด็กและผู้ปกครองมาตักเตือนและชี้แจง (2) ให้คำแนะนำแนวทางในการเลือกใช้ และ (3) ส่งเด็กเข้ารับการบำบัดจากแพทย์ โดยได้กำหนดมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพ แก้ไข เยียวยาเด็กที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กันชง และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอและได้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำไปประกอบการพิจารณาต่อไป
..................................................................