วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ที่ SX Grand Plenary Hall ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “Economic Sustainability เปิดสูตรลับพลิกวิกฤต สู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน” ร่วมกับดร.วิทย์ สิทธิเวคิน คุณพีรพล เหมศิริรัตน์ และคุณ อังคนางค์ จิตรกร ในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2023 (SX2023) งานที่รวบรวมองค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านความยั่งยืนเพื่อสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” โดยยึดแนวคิดหลักการจัดงาน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมในงาน
นายวราวุธ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกวันนี้ ในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจดูแลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่นเวลาเกิดปัญหาน้ำท่วม คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่โดนก่อน ต่างจากคนกลุ่มบน ซึ่งเวลาเกิดปัญหา อาทิ เมื่ออากาศร้อนก็จะสามารถเปิดแอร์ได้ ฉะนั้นการเข้าไปสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชน ให้หันมาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นกรณีน้ำท่วมในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปกติจะเป็นน้ำที่ท่วมและไหลผ่านลงไปเร็ว แต่ในปีนี้น้ำที่ไหลเข้ามาจะมีดินโคลนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการจะสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่โดนกลุ่มแรกและเป็นกลุ่มที่เราต้องเข้าไปช่วยเป็นกลุ่มแรก เป็นสิ่งที่กระทรวง พม. ได้เข้าไปช่วยเหลือในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่กระทรวง พม. เพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ต้องบอกว่าเราต้องปรับตั้งแต่หัวยันหาง ตั้งแต่ประชาชน 66 ล้านคน โดยประเทศไทยเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก แต่เวลาเกิดผลกระทบเรากลับมีผลกระทบที่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมี 3 เรื่องที่จะเปลี่ยน คือ 1. เรื่องเงิน เช่นคาร์บอนเครดิต 2. เรื่องกฎหมาย และ 3. ความตาย เช่น เมื่อ 5-6 ปีก่อน มี PM2.5 เริ่มเข้ามา รัฐบาลเตือนให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความร่วมมือ แต่พอ โควิด-19 เข้ามา ทุกคนหันมาสวมหน้ากากอนามัย เพราะทุกคนนัันกลัวตาย
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา กฎหมายจะต้องรีบออกมา เพื่อเป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจแบบใดสามารถมีคาร์บอนฟุตปริ้นได้เท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคน ทั้งกฎหมาย ทั้งภาครัฐ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องเริ่มที่ตนเอง เริ่มที่บ้านอย่างเช่น การแยกขยะ โดยบทบาทของกระทรวง พม. ต้องให้โอกาสและให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เช่น การลดคาร์บอนฟุตปริ้น และสองคือการปรับตัวของมนุษย์ เช่น การออกแบบหลังคาบ้างอย่างไรเมื่อฝนตกหนักมากขึ้น หรือจะทำอย่างไรถ้าอากาศที่ร้อนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวง พม. มี “นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” และในนโยบายที่ 5 นั่นคือ การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ฉะนั้นการปรับตัวของคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน ทุกคนจะต้องเปลี่ยนการดำรงชีวิตเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทุกคนอย่ามองว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นภาระ แต่มันคือโอกาสในการทำให้เรามีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว#SustainabilityExpo2024 #SX2024 #มหกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน