พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาในสาขาต่างๆ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี พ.ศ. 2567 ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อยกย่องชูเกียรติแก่เกษตรกรผู้ที่มีผลงานโดดเด่นให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ ตลอดจนเป็นการให้ความสำคัญและสร้างขวัญกำลังใจกับเกษตรกร
ทั้งนี้กรมหม่อนไหมก็ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลดังกล่าวในปีนี้ โดยเกษตรกรผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คือ นายพินิจ แก้วพิมาย เป็นเกษตรกรสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ที่บ้านดงบัง ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิผลงาน
แต่เดิม ครอบครัวนายพินิจ ทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุษ จึงได้เรียนรู้จากช่วยแม่เลี้ยงไหมตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำให้ซึมซับ จนรู้สึกชอบและผูกพันธ์ จากความคุ้นเคยและเรียนรู้จากที่เคยช่วยแม่ทำสั่งสมประสบการณ์ จนกระทั่งอายุ 20 ปี ก็เริ่มหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าเองแบบจริงจัง จนสามารถทำได้แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสาวไหมและทอผ้าไหมในพื้นที่ 2.5 ไร่ ด้วยความใส่ใจในการดูแลแปลงปลูกหม่อนตั้งแต่การใส่ปุ๋ยบำรุงดินให้น้ำตัดแต่งกิ่งตามหลักวิชาการที่ได้รับคำแนะนำจากกรมหม่อนไหมทำให้ได้ผลผลิตใบหม่อนทั้งพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์สกลนครถึงปีละ 8 ตัน โดยยึดเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบันรวม29 ปีแล้ว
นายพินิจ มีผลงานโดดเด่น ในสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศรองอันดับ 2 ประกวดเส้นไหมสืบสาวมือประเภทบุคคลในงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยประจำปี 2557 จากกรมหม่อนไหม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัดกิจกรรมคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2558 จากกรมหม่อนไหมรวมทั้งรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปี 2567
ปัจจุบัน นายพินิจ มีสินค้าผ้าไหม ได้รับใบรับรองแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชนิด Royal Thai Silk (นกยูงสีทอง) Classic Thai Silk (นกยูงสีเงิน) และ Thai Silk (นกยูงสีน้ำเงิน) จากกรมหม่อนไหม โดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” เน้นผลิตผ้าไหมตามคำสั่งซื้อ โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอคอนสาร โดยใช้เส้นไหมที่ผลิตเองทั้งหมด จึงสามารถลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพของผ้าไหมที่ผลิตและสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำการตลาดออนไลน์โดยการโพสต์ขายผ่านทางเฟสบุ๊คอีกด้วย ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีในปี 2565 มีรายได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 334,000 บาท และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 577,000 บาท
นอกจากนี้ นายพินิจ เป็นผู้มีจิตอาสา มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชน เช่น เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง “Smart Farmer” ด้านการปลูกหม่อนไหมมีความรอบรู้ในกระบวนการผลิตหม่อนและไหม มีความสามารถในการวิเคราะห์ เชื่อมโยงและบริหารจัดการการผลิตและการตลาด โดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพของสินค้าผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมและเลี้ยงไหม ตั้งแต่ ปี 2555 จนถึงปัจจุบันและเป็นอาสาสมัครเกษตรกร สาขาหม่อนไหมอาสา เปิดบ้านเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งภาครัฐ สถานศึกษาและเอกชน และผู้สนใจอีกด้วย
นายพินิจ แก้วพิมาย กล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยทำนาและปลูกถั่วเหลืองมาก่อน แต่จากที่เห็นบรรพบุรุษรุ่นพ่อแม่เลี้ยงไหมเป็นอาชีพมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ และคิดว่าหม่อนก็เป็นพืชเศรษฐกิจ และเมื่อปลูกแล้วก็มีรายได้ดี พอเลี้ยงดูครอบครัวได้ ที่สำคัญเป็นอาชีพในพระราชดำริของพระพันปีหลวงจึงอยากสืบสานต่อไปยังคนรุ่นหลัง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำในทุกกระบวนการ
จากการสั่งสมประสบการณ์ถึงปัจจุบันนี้ผมอายุ 50ปี แล้ว โดยได้ต่อยอดพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม แบบครบวงจรในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนก็เป็นวิธีการที่ปลอดภัยเพราะไม่ใช้สารเคมีใดๆตลอดกระบวนการโดยใช้แต่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก และใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ส่วนของการเลี้ยงไหมก็มีการวางแผนการจัดการตั้งแต่เริ่มเตรียมความพร้อมโรงเรือนและอุปกรณ์ก่อนการเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องเหมาะสมตามสุขลักษณะทำให้ได้ปริมาณรังไหมและเส้นไหมที่มีคุณภาพ และมีจำนวนมาก จะเห็นได้จากผลผลิตในการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยลูกผสม(พันธุ์ J108×นางลายสระบุรี)จำนวน 10 รุ่นรุ่นละ 1-2 แผ่นสามารถผลิตเส้นใหม่ได้ 52 กิโลกรัมและการเลี้ยงไม้พันธุ์ไทยพื้นบ้าน(พันธุ์นางสิ่ว×นางตุ๋ย)จำนวน 5 รุ่นรุ่นละ 1 แผ่นสามารถผลิตเส้นใหม่ได้ 8.5 กิโลกรัมมีผลผลิตดักแด้จำนวน 270 กิโลกรัม
นอกจากนี้ก็คิดต่อพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสาวไหม เช่น การติดมอเตอร์ที่เครื่องสาวไหมทำให้สาวไหมได้เร็วขึ้นก่อนดักแด้จะกลายเป็นผีเสื้อออกมาเจาะรังไหมทำให้เสียหาย และได้เส้นไหมที่มีคุณภาพ มีความสวยงาม มีขนาดสม่ำเสมอ สะอาดและมีสีสันสดใส เพราะใช้สีจากวัสดุธรรมชาติในการย้อมเส้นไหมเช่น ใช้ใบไม้และเปลือกไม้ในท้องถิ่นโดยไม่มีการตัดหรือทำลายต้นไม้ เมื่อนำไปทอจึงออกมาเป็นผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณภาพ
โดยในรอบการผลิตที่ผ่านมาสามารถผลิตผ้าไหมหางกระรอกจำนวน 240 เมตรผ้าขาวม้าไหมจำนวน 28 ผืนผลิตผ้าไหมชุด(ผ้าไหมพื้น+ผ้าไหมมัดหมี่)จำนวน 6 ชุดผลิตผ้าไหมพื้นจำนวน 45 เมตรโดยมีการวางแผนในการทอผ้าให้ได้สัปดาห์ละ 200 เมตร
นอกจากนี้ยังสามารถนำสิ่งของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตเส้นไหมมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ่มค่า เช่น การนำมูลไหมมาหมักเป็นปุ๋ย นามดักแด้มาประกอบอาหารนำน้ำจากการสาวไหมไปใช้รดพืชผักสวนครัว ใช้น้ำขี้เถ้ามาลอกกาวไหมและมีการทำบ่อสำหรับทิ้งน้ำลอกกาวไหมและน้ำย้อมสีเส้นไหมเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ
อีกเรื่องที่นายพินิจให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมให้อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นที่แพร่หลายในชุมชนโดยเผยแพร่ความรู้ให้กับสมาชิกและเยาวชนในชุมชน อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างทายาทสืบสานอาชีพการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าไหม เพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้และสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในอาชีพของคนในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนสืบไปการได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 ครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเกียรติ และเป็นความภาคภูมิใจแก่ตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอยืนยันว่าจะรักษาและสืบสานอาชีพการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้าไหมให้คงอยู่สืบไป