กสศ. เตรียมความพร้อมโรงเรียนปลายทาง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล
ใช้กลไกแลกเปลี่ยนเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านทีมหนุนเสริมจากผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ ยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มีความเข้มแข็ง หลังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาในชนบทกับในเมือง มีคุณภาพห่างกันมากกว่า 2 ปีการศึกษา สาเหตุมาจากการจัดการเรียนการสอน จำนวนครูไม่เพียงพอ
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 4 ภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 3 “โรงเรียนพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการพัฒนาครู” โดยมีคณะทำงานหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าร่วมเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนปลายทางในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า โครงการหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 4 ภูมิภาค ถือเป็นกลไกที่สำคัญต่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม บูรณาการเชื่อมโยงงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนในเขตพื้นที่และ สพฐ.
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole school approach) นำไปสู่การเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคนโยบายระดับต่าง ๆ โดยข้อมูลสำคัญจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจะถูกนำมาวิเคราะห์ให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย
สำหรับทีมหนุนเสริมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั้ง 4 ภูมิภาค ที่มาร่วมกันในวันนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ให้สามารถดําเนินการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนด้วยมาตรการคุณภาพจากต้นแบบของ โรงเรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลถือเป็นพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติงานของครูรุ่นใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมีจำนวน 699 แห่ง และพร้อมเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสำหรับนักศึกษาทุน (รุ่นที่ 1) จำนวน 281 แห่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี กล่าวว่า ทีมหนุนเสริมเป็นทีมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และมีจิตอาสาที่ทำงานในแนวระนาบเพื่อส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้น เสริมแรง ติดตามช่วยเหลือให้คำปรึกษา รวมทั้งประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อให้ดำเนินงานโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยใช้กลไกสำคัญที่ประกอบด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Q-PLC) ซึ่งเป็นกระบวนการเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มครูทั้งในระดับโรงเรียนและเครือข่ายอย่างได้ผลและเกิดชุมชนการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง จนนำไปสู่เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Q-Learning) โดยอาศัยภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร (Q–Leadership) มาขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียน ที่มีเป้าหมายชัดเจน
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของคณะทำงานทีมหนุนเสริมทั้ง 4 ภูมิภาค จะยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเป็นหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และรองรับการบรรจุแต่งตั้งผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทั้งนี้การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ครูเพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ ต้องใช้พลังของครูทั้งโรงเรียน ดังนั้น ผู้บริหาร ครู และอาจารย์ หรือโค้ชจึงเป็นคนสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ จึงมีหน้าที่ในการเชื่อม รวมพลัง และหากมีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ ความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศก็จะเกิดขึ้นได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี กล่าว
ดร.อนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โจทย์หนึ่งที่ท้าทายการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสมอมา คือ การบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่ามีจำนวนนักเรียนไม่มาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เยาวชนแม้เพียงหลักร้อยหรือหลักสิบคนก็คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแปรชี้ว่าภาพของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะที่กลไกการทำงานพัฒนาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าตามแนวตะเข็บชายแดน พื้นที่เกาะ ป่าเขา บนดอยสูง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ ยังพบปัญหา อาทิ เรื่องอัตรากำลังครูที่ไม่มีครูเลือกบรรจุบางพื้นที่ หรือการขอย้ายออก ผู้บริหารไม่สามารถวางแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนได้ จนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง
“สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 4 ภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกหนุนเสริมเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาครูรุ่นใหม่ ในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเป็นหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพและรองรับการบรรจุแต่งตั้งผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รวมถึงส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง และเต็มตามศักยภาพในโรงเรียนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวต่อไปว่า ในโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น สพฐ. มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ข้อมูลหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยพิจารณาข้อมูลขนาดโรงเรียน สถานะการยุบหรือควบรวม หรือสถานะอื่น ๆ อาทิ สถานศึกษาในเขตพื้นที่พิเศษ โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ฯ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สอบทานข้อมูลโรงเรียนปลายทาง รวมถึงร่วมสร้างเครือข่ายและเชื่อมประสานกับโรงเรียน และหน่วยงานในพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับหน่วยงาน MOU และระดับพื้นที่
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาในชนบทกับในเมือง มีคุณภาพห่างกันมากกว่า 2 ปีการศึกษา โดยมีสาเหตุมาจากการจัดการเรียนการสอนของครูยังไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจึงแปรผันไปตามคุณภาพการสอนของครู ดังนั้นเพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนรู้และสนับสนุนนักเรียนในการพัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพอย่างเต็มตามศักยภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดย กสศ. มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษซึ่งมีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครู ให้เข้ารับการศึกษาและได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้สอดคล้องกับโจทย์การศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
“การขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ที่เกิดจากจากความไม่สมดุลของระบบการผลิตและพัฒนาครูในระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมา เป็นความท้าทายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ปัญหาเรื่องอัตรากำลังครูที่ไม่มีครูเลือกไปบรรจุทำงานหรือขอย้ายออกปีละจำนวนมาก การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังพัฒนาคุณภาพได้ยาก ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส ระบุว่า ในแผนพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กสศ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พัฒนาแนวคิดการผลิตและพัฒนาครูด้วยวิธีและนวัตกรรมที่เหมาะกับโจทย์ระดับพื้นที่ ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นทางของระบบการศึกษา ด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1) สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2) พัฒนาและปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูของสถาบันผลิตและพัฒนาครู และ 3) พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นไปปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา
“โรงเรียนตามแนวชายแดน โรงเรียนบนพื้นที่เกาะ หุบเขา หรือพื้นที่เสี่ยงภัยราว 1,000-1,500 แห่ง เป็นโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติงานของครูรุ่นใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะรับการบรรจุหลังสำเร็จการศึกษา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยต้องพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบตามบริบทอย่างต่อเนื่อง”