พม. โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ จัดอบรมหลักสูตรพระบริบาลภิกษุไข้ 30 ชั่วโมงและหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ขั้นเบื้องต้น จำนวน 18 ชั่วโมงให้กับพระคิลานุปัฏฐากและพระภิกษุสงฆ์ภายใต้โครงการ “ธรรมะ สานใจ สูงวัยพลังบวก” ภายใต้แนวคิด “บวร”เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2566) นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ
กล่าวว่า พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ยึดโยงหลักศาสนา ความสามัคคี และความ มีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม โดยการบูรณาการทุนทางสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย โดยนำแนวคิด “บวร” เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และช่วยให้สังคมไทยกลับมาเข้มแข็ง มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการทางสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2566 นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินโครงการ “ธรรมะ สานใจ สูงวัยพลังบวก” ภายใต้แนวคิด “บวร” เพื่อเป็นการเผยแพร่พระประวัติ พระกรณียกิจพระคติธรรมและพระเกียรติคุณของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ด้านการพัฒนาสังคมและสังคมสงเคราะห์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย และมีการจัดอบรมหลักสูตรพระบริบาลภิกษุไข้ 30 ชั่วโมงและหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ขั้นเบื้องต้น จำนวน 18 ชั่วโมงให้กับพระคิลานุปัฏฐากและพระภิกษุสงฆ์
นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้สูงอายุจำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.03 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนประชากรผู้สูงอายุ โดยจากการสำรวจข้อมูลพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ 252,851 รูป จาก 41,142 วัด พบว่า มีพระภิกษุสงฆ์ที่สุขภาพแข็งแรงดีร้อยละ 52 ในขณะที่ภาวะเสี่ยงร้อยละ 19
และพระภิกษุสงฆ์อาพาธถึงร้อยละ28.5 ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสูงอายุที่เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง ไม่มีผู้ดูแล และ มีปัญหาทางด้านสุขภาพ เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา รวมถึงพระภิกษุสงฆ์อาพาธส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดผู้ดูแลที่มีทักษะความรู้ความสามารถในการดูแลที่เหมาะสม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างมากทำให้เป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น
พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและในชุมชน รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคม และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดอบรมสร้างผู้ดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมสูงอายุในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับการดูแลพระภิกษุสงฆ์สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมและสนับสนุนการนำมาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุและหลักสูตรพระบริบาลภิกษุไข้มาใช้ในการจัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมในทุกมิติเพื่อให้กับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นผู้ดูแลพระภิกษุอาพาธและผู้สูงอายุในชุมชนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพระบริบาลภิกษุไข้ 30 ชั่วโมง และหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น จำนวน 18 ชั่วโมง” ระหว่างวันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ร่มใบบุญรีสอร์ต อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 50 รูป ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมให้พระคิลานุปัฏฐาก และพระภิกษุสงฆ์มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิสวัสดิการของผู้สูงอายุและมีทักษะในการดูแลทางด้านสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัยและการให้คำแนะนำปรึกษา รวมถึงสามารถดูแลพระภิกษุสงฆ์ในวัดและผู้สูงอายุในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ