วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค รุ่นที่ 4 ภาคเหนือ พร้อมให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “พลังสตรีกับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2566 โดยมี นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวรายงาน ในการนี้ นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรม ร.ต.อ. เขตรัฐ ชาญศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์สารนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน นายประยุกต์ สุดธัญญรัตน์ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
โดยวัตถุประสงค์การดำเนินการประชุมเพื่อส่งเสริมความรู้ให้คณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค สามารถขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ วิธีการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย จังหวัดภาคเหนือ (17 จังหวัด) จำนวน 56 คน ประกอบด้วย หัวหน้าและคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ๆ ละ 2 คน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด ๆ ละ 1 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนอกจากการดำเนินงานตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในทุกระดับล้วนมีความสำคัญกับการขับเคลื่อนงาน ซึ่งต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การเอาใจใส่ และการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน การหมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่ ดั่งพระโอวาทที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสอนไว้ว่า “ต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องสตรี สร้างภาคีเครือข่ายในการพัฒนา นอกจากนี้ การขับเคลื่อนงานของกรมการพัฒนาชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
"โลกในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากความตั้งใจ ความสามัคคี และความเสียสละที่จะทําให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงต้องรวมถึงความเข้มแข็งของสตรีที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน ผู้นําต้องทําก่อน ทําสิ่งดีก่อน ทําสิ่งที่เป็นแบบอย่าง เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน การขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนทั้งในส่วนของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้เศรษฐกิจทุกคนในพื้นที่ สามารถกินอยู่เองได้ สามารถอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาคนอื่น และการส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงล้วนมีความเกี่ยวข้องกับสตรี ซึ่งล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งทุนที่ส่งเสริมให้สตรีที่เป็นสมาชิกได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีและครอบครัว รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคง เช่น กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใยกัญชง บ้านห้วยทราย หมู่ 3 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นจากรุ่นยายสู่รุ่นแม่และถ่ายทอดส่งต่อภูมิปัญญาอันมีค่าสู่รุ่นลูกแบบ “แม่สอนลูก พี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน” ต่อยอดพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชงก่อให้เกิดรายได้จากอาชีพเสริมนำมาสู่อาชีพหลักและได้ขึ้นทะเบียนหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 4 ดาว ได้รับเลือกเป็นศิลปิน OTOP ในปี 2565 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19) กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชงได้ปรับตัวในสถานการณ์ดังกล่าว โดยเพิ่มช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ ซึ่งสร้างกระแสการรับรู้สู่การตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวันมากขึ้น จึงทำให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสตรีในชุมชนจากกว่า 10 คน ปัจจุบันกว่า 100 คน รายได้ของกลุ่ม 100,000 บาท/เดือน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายกลุ่มที่สามารถแสดงให้เห็นถึงพลังสตรีที่สามารถส่งเสริมให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า สตรีในชุมชนมีรายได้ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืน"
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่จะช่วยให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่จะสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ความทุ่มเท และเสียสละของทั้งกลไกการขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับเช่นกัน สำหรับการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นอีกประเด็นที่สำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเอาจริงเอาจริง และความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ กลไกการขับเคลื่อน ผู้นำสตรี และภาคีเครือข่ายภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเงินทุนที่ต้องนำมาหมุนเวียนเพื่อกระจายโอกาสให้กับสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้นำไปสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพและบทบาทของสตรีตามที่วัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้กำหนดไว้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นร่วมกันในโอกาสของการจัดโครงการนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ถอดบทเรียนจากการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและการบริหารจัดการหนี้ เพื่อให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะอยู่คู่กับสตรีต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ เวลา 12.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยทราย อำเภอแม่ริม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อปี พ.ศ. 2564 เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์สิ่งทอแฮนด์เมดจาก “เส้นใยกัญชง” ซึ่งมีการพัฒนาทั้งด้านวัตถุดิบเส้นใยให้มีคุณสมบัติสวมใส่แล้วไม่คัน พร้อมปรับปรุงดีไซน์ให้ทันสมัย หลากหลายรูปแบบ สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสม จนกลายเป็นอีกสินค้าเด่นของจังหวัดเชียงใหม่
คุณนวลศรี พร้อมใจ ประธานกลุ่ม เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เดิมทีเป็นการรวมกลุ่มของแม่บ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จากชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักทำนา ทำสวน เวลาว่างก็มาเรียนรู้การเย็บปักถักร้อย ที่พอจะมีความรู้กันอยู่บ้างแล้ว จากการทำใช้กันเอง ถักด้วยวิธีนิตติ้งและโครเชต์ให้ลูกหลานใช้ แล้วรวมกลุ่มกันถักเชือกฝ้าย เป็นหมวก กระเป๋า ขายตามงานในหมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัด และรับจ้างทำส่ง ต่อมาได้ขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ และรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อปี พ.ศ. 2564 เป็นทุนในการดำเนินงานของกลุ่ม รวมทั้งมีการฝึกทักษะเพิ่มความรู้ และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มาใช้เส้นใยกัญชง ถักเสื้อ หมวก กระเป๋า กระโปรง ผ้าคลุมไหล่ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ย้อมสี มีการส่งเข้าคัดสรร OTOP ในปี 2546 ได้ 3 ดาว ต่อมาปี 2547 ก็ส่งเข้าคัดสรรอีก และได้ OTOP 4 ดาว นอกจากนั้นก็ได้มาตรฐานสินค้า Q ของสำนักงานเกษตรจังหวัด และได้รับตราเชียงใหม่แบรนด์ด้วย สำหรับเส้นใยกัญชง ซึ่งเดิมชาวไทยภูเขาจะนิยมถักทอเป็นรองเท้า และเครื่องใช้ในบ้าน จึงเริ่มศึกษาและทดลองนำเส้นใยกัญชงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ คุณสมบัติของใยกัญชงคือดูดสารพิษออกจากร่างกาย ใส่แล้วเพิ่มความอบอุ่นและเย็นสบาย ลูกค้ามีทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น และคนไทย การดูแลซักก็ไม่ยาก ใช้น้ำยาล้างจานหรือแชมพูสระผมซักด้วยมือ ยิ่งซักจะยิ่งนุ่มยิ่งเหนียว ถ้าใช้ผงซักฟอกจะไปกัดเส้นใย ปัจจุบันมีสินค้านับร้อยรายการ เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมอนสุขภาพ ฯลฯ ถักทอด้วยมือล้วน ๆ ราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละสิบกว่าบาท ถึงสูงสุดประมาณ 8,000 บาท กลุ่มสามารถเพิ่มปริมาณการผลิต เนื่องจากมีการจัดซื้อวัตถุดิบเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 บาท ต่อเดือน
คุณนวลศรี เล่าเพิ่มเติมว่า การใช้สีส่วนใหญ่เป็นสีธรรมชาติของใยกัญชงเอง ส่วนสีอื่นก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติเช่นกัน คือ ย้อมด้วยสีดอกทองกวาวและน้ำขี้เถ้า ส่วนแบบต่าง ๆ นั้นนอกจากกลุ่มแม่บ้านจะได้รับการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว บางส่วนดูจากในหนังสือและดูจากละครทีวีที่เหล่าดารานักร้องนักแสดงสวมใส่กัน เช่น ถ้าช่วงนี้นิยมกระโปรงยาวก็ออกแบบสไตล์นั้น ต่อไปจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเข้าร่วมโครงการอบรมสถาบันสิ่งทอ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล เชียงใหม่ อบรมการส่งออกการออกแบบผลิตภัณฑ์ OTOP พรีเมี่ยมโกอินเตอร์ และอบรมครูช่างศิลปาชีพบางไทร ด้านศิลปกรรม หากสนใจสินค้าของกลุ่มสามารถติดต่อกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-2894744 , 081-9519702