วันนี้ (22 เม.ย. 66) เวลา 14.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) จำนวน 420 ชั่วโมง รุ่นที่ 1/2566 จำนวน 38 ราย พร้อมทั้งมอบโอวาทแก่ผู้ผ่านการอบรมฯ โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. พร้อมนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางอรนุช ชัยชาญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก พร้อมทีม One Home พม. และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วม ณ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก
นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) 420 ชั่วโมง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่
18 กันยายน 2565 เพื่อให้ความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมในทุกด้าน รวมถึงสนับสนุนการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ด้วยการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างอาชีพ และนำไปต่อยอดเพิ่มองค์ความรู้สำหรับการประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) จำนวน 420 ชั่วโมง รุ่นที่ 1/2566 ระหว่างวันที่ 9 มกราคม - 7 เมษายน 2566 ด้วยการอบรมภาคทฤษฎี จำนวน 200 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ จำนวน 220 ชั่วโมง ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมฯ ทั้งสิ้น 38 ราย
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการอบรมฯ ทุกท่าน ซึ่งเป็นรุ่นแรกของจังหวัดพิษณุโลก และของประเทศไทยที่บูรณาการความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน อีกทั้งเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีพระสงฆ์ 1 รูป มาเข้าร่วมอบรมฯ ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้บวชเป็นพระ โดยปี 2566 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีความต้องการฝึกพระสงฆ์เป็น Care Giver เพื่อดูแลพระสงฆ์ด้วยตนเอง 1 วัดต่อ 1 รูป ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีมืออาชีพเพื่อเป็นต้นแบบและเป็นที่ปรึกษาให้กับวิทยาลัยสงฆ์และวิทยาลัยพยาบาล
ขณะนี้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ซึ่งหลายท่านที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ มีความปรารถนาที่จะนำทักษะ ความรู้ ความสามารถ กลับไปดูแลญาติผู้ใหญ่และครอบครัว ในขณะเดียวกัน ท่านสามารถนำใบประกอบวิชาชีพนี้ ที่เป็นอาชีพขาดแคลนไปต่อยอดได้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านตระหนักว่าใบประกอบวิชาชีพมีคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นการรับประกันคุณภาพและโอกาสสำหรับอาชีพที่รองรับผู้สูงอายุที่มีความต้องการผู้ดูแลในบั้นปลายชีวิต ซึ่งกระทรวง พม. หวังว่าจะมีการต่อยอดในรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ต่อไป และจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม