เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมระหว่างประเทศระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 11 หัวข้อเรื่อง “การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงความเปราะบางทางเพศสภาพและสังคม” (The 11th Mekong Regional Workshop “How to incorporate perspectives of gender and social vulnerabilities into the protection process”) โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายสุซุกิ คาซุยะ (Mr. Suzuki Kazuya) หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประเทศไทย นายทาคุมิ คุนิทาเกะ (Mr. Takumi Kunitake) ผู้อำนวยการสำนักงานความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการลดความยากจน JICA ประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา ลาว และเวียดนาม) ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนส่วนราชการ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วม ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า การค้ามนุษย์ไม่เพียงแต่จะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นหนึ่งในอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกและมีความสลับซับซ้อนในหลายหลายรูปแบบ รวมถึงอาชญากรรมทางไซเบอร์ อาทิ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) และสแกมเมอร์ (Scammer) เป็นต้น โดยปัญหาการค้ามนุษย์ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ การละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจำกัดอิสรภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของบุคคล ซึ่งปัจจุบัน มนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติ มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ได้ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคมจำนวนมาก ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนที่มี
ความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ++ และชนกลุ่มน้อย อีกทั้งอาจจะเข้าไม่ถึงกระบวนการคุ้มครองหรือไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมระหว่างประเทศระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 11 มีการนำเสนอสถานการณ์การต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศ (Country presentation) จากผู้แทนประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมทั้งมีการระดมความคิดเรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงความเปราะบางทางเพศสภาพและสังคม ซึ่งขณะนี้ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำลังพยายามต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนและมีหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิธีการของการค้ามนุษย์ที่มีการหลอกลวงบุคคลเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์เปลี่ยนไปในช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ทำให้กลุ่มคนที่เป็นผู้เสียหายมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเพศสภาพและทางสังคม ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน และต้องตระหนักรู้ร่วมกันมากขึ้น นับว่าการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงความเปราะบางทางเพศสภาพและสังคม นับเป็นสิ่งท้าทายสำหรับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme