วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เพจ Because we care จัดโครงการ CYC Plus รู้ รักในวัยเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกัน เทคนิคการช่วยเหลือ และช่องทางการส่งต่อเมื่อเกิดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนนำไปขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างการรับรู้ที่ดีในการป้องกันการกระทำความรุนแรงอย่างเข้มแข็งต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ ฯ
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยขณะนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย มีความซับซ้อนอันเกิดจากปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่ล้อมรอบตัวเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาที่แฝงมากับสื่อสังคมออนไลน์ นำไปสู่การล่อลวง ส่งผลเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง จึงมุ่งเน้นพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในวิธีป้องกัน ช่วยเหลือ และช่องทางการส่งต่อเมื่อเกิดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน โดยร่วมกับเพจ Because we care เปิดตัวโครงการ CYC Plus รู้ รักในวัยเรียน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก และภาคใต้เป็นภาคที่สอง ณ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการอบรมสร้างแกนนำสภาเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปขยายผลในระดับพื้นที่ ในเรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ กิจกรรมต้านภัย ยาเสพติด และการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือสังคมตลอดจนสามารถเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังไม่ให้ เกิดความรุนแรง ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนำไปสู่สังคมที่ปลอดภัยกับทุกช่วงวัย ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นการบรรยายให้ความรู้ และการฝึกปฏิบัติแก่สภาเด็กและเยาวชนภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด และเด็กและเยาวชนในโรงเรียนมหาวชิราวุธ จำนวน 350 คน โดยมีบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท โทรีเซนไทย เอยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เพจ Because we care และหน่วยงานอื่น ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ CYC Plus รู้ รักในวัยเรียน มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะในรูปแบบการล่วงละเมิด การทารุณกรรม การใช้แรงงาน รวมถึงภัยจากโลกออนไลน์ ดังนั้น การให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงรู้จักช่องทางในการช่วยเหลือส่งต่อเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในเด็กและเยาวชน จึงมีความสำคัญ อย่างยิ่ง เพราะนอกจากเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะดูแลตนเองได้เมื่อเกิดอันตรายแล้ว ยังสามารถเป็นแกนนำ สำคัญในการสร้างการรับรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไปได้อีกด้วย
นางอภิญญา เน้นย้ำ ปัญหาความรุนแรงของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาที่แฝงมากับ สื่อสังคมออนไลน์ เด็กและเยาวชนจะต้องรู้เท่าทัน และสามารถปฏิบัติตนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงเหล่านี้ได้ ตลอดจนสามารถใช้ช่องทางในการสื่อสาร แจ้งเหตุ ส่งต่อ ได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น หากพบเห็นการกระทำ ปัญหาความรุนแรง ไม่ว่าจะรูปแบบใด สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 และแอพพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก แอพพลิเคชั่นไลน์ ESS Help me หรือเพจ Because we care ตลอด 24 ชั่วโมง
..................................................................