องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ 10 ภาคีเครือข่าย จัดงาน “เสียงของเรา ทางเลือกของเรา: รณรงค์ยุติ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อรวมพลังและสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในผู้หญิง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกในทุกสังคม เปิดสถิติไทยมีความรุนแรงในครอบครัวลำดับที่ 103 ของโลก จากจำนวน 163 ประเทศทั่วโลก เผยข้อมูลนิธิปวีณา ปี 65 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 6,745 ราย ถูกข่มขืนและอนาจาร 944 ราย เพิ่มขึ้น 163 ราย ช่วงอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 0-5 ปี อายุเหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ 10 – 15 ปี และเหงื่อทารุณกรรมและทำร้ายร่างกาย 961 ราย เหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี
ดร.สุดาวดี ลิ้มไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านการจัดการนวัตกรรมและผลกระทบฝ่ายโครงการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศนั้นมีหลายรูปแบบแตกต่างกัน รวมถึงการใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางวาจา การหลอกลวงทางเพศ การเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะกับเด็กและสตรีซึ่งจะเป็นผู้ถูกกระทำและเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยความรุนแรงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัว รั้วโรงเรียน และชุมชน จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงไทยตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ และทางร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNDOC) ยังกล่าวไว้ด้วยว่า “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ยังคงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พบมาก โดยในปี 2564 มีผู้หญิงและเด็กหญิงราว 45,000 คนทั่วโลกถูกปลิดชีพโดยคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว หมายความว่า ทุก ๆ หนึ่งชั่วโมงผู้หญิงและเด็กหญิงกว่า 5 คน ถูกคนในครอบครัวตนเองสังหาร ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนใหญ่สุด 18,100 ครั้ง ในเอเชีย 17,800 ครั้ง ในโอเชียเนีย 300 ครั้ง และสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของไทย ปี 2565 มีความรุนแรงอยู่ลำดับที่ 103 จาก 163 ประเทศทั่วโลก
ข้อมูลจากมูลนิธิปวีณาในปี 2565 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 6,745 ราย โดยเฉพาะจำนวนผู้หญิงที่โดนกระทำความรุนแรงเป็นดังนี้ การข่มขืนและอนาจาร 944 ราย (เพิ่มขึ้น 163 ราย เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2564) โดยช่วงอายุของเหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ 10 – 15 ปี จำนวน 381 ราย และเหยื่อที่มีช่วงอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 0 – 5 ปี (ไม่ระบุจำนวน) ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นคนในครอบครัว รวมถึงเกิดการทารุณกรรมและทำร้ายร่างกาย 961 ราย เหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี ราว 183 ราย ตามด้วยช่วงอายุ 0 – 10 ปี จำนวน 114 ราย และผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งมีปัจจัยมาจากปัญหายาเสพติดมี 262 ราย และพบว่า ‘แม่’ คือผู้ถูกกระทำที่มีจำนวนถึง 90 ราย และพบว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่นั้นคือ ‘ลูก’ และ ‘สามี’
ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมีสาเหตุมาจากอคติทางเพศที่ฝังในระบบความคิด มีจารีตและวัฒนธรรมต่างๆ ที่หยั่งรากลึกในสังคม ทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่ต้องจำยอม หรือต้องทนกับความสัมพันธ์แย่ๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ยากจะแก้ไข หรือผู้หญิงบางคนอาจต้องจมอยู่กับการถูกควบคุมภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่ที่กดทับชีวิตของคู่ครอง และอื่นๆ อีกมากที่ยังแก้ไม่ได้ในสังคม
ล่าสุด องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ 10 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายสิทธิเด็กเอเชีย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย สํานักข่าวเด็กและเยาวชนจังหวัดพะเยา สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสายเด็ก 1387 มูลนิธิรักษ์เด็ก แนวร่วมสิทธิเด็กล้านนา เครือข่ายนักกิจกรรมเยาวชนเพื่อสิทธิเด็ก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิเด็กโสสะ แห่งประเทศไทย จัดงาน “เสียงของเรา ทางเลือกของเรา: รณรงค์ยุติ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อรวมพลังและสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในผู้หญิง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกในทุกสังคม อีกทั้งภายในงานยังมีเวทีเสวนา ในหัวข้อ “เสียงของเรา ทางเลือกของเรา : รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิงและสตรี” เพื่ออัพเดทสถานการณ์ รูปแบบความรุนแรงที่เกิดกับเด็ก ผู้หญิงในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในโรงเรียน ชุมชน รวมถึงในสังคมออนไลน์ และนโยบายการรับมือของ ภาครัฐไทย กับภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดและยุติความรุนแรง
สำหรับองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ได้รวมพลังภาคีเด็ก เยาวชน สตรี และภาคประชาสังคม ร่วมกันส่งเสียงเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ภายใต้ข้อความรณรงค์ “เมื่อหยุดทำร้าย ดอกไม้จึงเบ่งบาน” และคาดหวังว่ากิจกรรมวันนี้จะจุดประกายให้ทุกคนเปล่งเสียงของตนเอง โดยเฉพาะเสียงจากเด็กผู้หญิง เยาวชนผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิเนื่องจากมักจะถูกมองข้าม หรือถูกห้ามไม่ให้อยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมพลังกันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิงทุกรูปแบบ
นางสาวอมิฮัน อาบูอีวา ผู้อำนวยการบริหารระดับภูมิภาค กลุ่มพันธมิตรสิทธิเด็กแห่งเอเชีย (Ms. Amihan Abueva -Child Rights Coalition Asia) กล่าวว่า พลังความร่วมมือของพวกเราช่วยเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งหาวิธีปกป้องเพื่อทำให้สังคมของเด็กๆ และผู้หญิงได้ดีขึ้น วันนี้เรามีปัญหามากมายทั้งสถานการณ์สิ่งแวดล้อม มลพิษและสงครามที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก และต้องรับมือ แต่สิ่งที่ฉันอยากจะขอฝากไว้ พลังของดอกไม้จะเบ่งบานไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน