วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชาบดี ชั้น 19 อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การส่งเสริมการออมเพื่อเด็กและเยาวชน” ระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยมี นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม และนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ในการออมเงินกับ กอช. ร่วมวางแผนระยะยาวเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงในชีวิต
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต และมีกลไกสำคัญ คือ สภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ จำนวน 8,778 แห่งทั่วประเทศ กว่า 160,000 คน รวมถึงเครือข่ายเด็กและเยาวชนในหลายภาคส่วน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยความร่วมมือทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะเข้ามาส่งเสริมให้มีความรู้และทักษะทางการเงิน ส่งเสริมความมั่นคงทางการเงิน และวินัยการออม สิทธิประโยชน์แก่สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน รวมถึงบุคลากรของ ดย. ที่เป็นสมาชิก กอช. และเด็กและเยาวชนในเครือข่ายการดูแลของ ดย. เพื่อส่งเสริมปริมาณการออมในครัวเรือนของสมาชิกให้เพิ่มขึ้น และเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน โดยใช้กลไกเด็กและเยาวชนในการส่งเสริมการออมไปยังช่วงวัยต่างๆ ทั่วประเทศ และคาดหวังว่าจะทำให้คนไทยที่มีวิกฤติเรื่องหนี้สินครัวเรือนหรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนเด็กและเยาวชน รวมถึงคนทุกช่วงวัย ถ้าได้วางแผนการออมตั้งแต่เด็กและเยาวชน ก็จะทำให้การวางแผนการเงินในหลายครอบครัว การวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับครอบครัว เพราะฉะนั้นการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้เด็กและเยาวชนรวมถึงทุกคนในครอบครัว ถ้าได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการออมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เราก็จะเห็นการวางแผนด้านการเงินที่ดีของพี่น้องประชาชนต่อไป
นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีภารกิจในการบริหารจัดการกองทุนเงินออมเพื่อชีวิตวัยเกษียณของประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบและปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะขับเคลื่อนการส่งเสริมการออม เพื่อวัยเกษียณของประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กอช. จึงเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบบำนาญรายเดือนเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ โดยปัจจุบันสมาชิกที่อยู่ในช่วงอายุ 15-30 ปี มี จำนวน 474,858 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 18.38% ของสมาชิก กอช. ทั้งหมด เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากร ภายใต้การกำกับดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีสวัสดิการด้านเงินบำนาญไว้ใช้ในยามชราภาพจากรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับสวัสดิการด้านบำนาญอย่างทั่วถึง
นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ กอช. จะนำเงินมาอุดหนุนเงินออม คือ ถ้าเด็กอายุ 15 - 30 ปี มาออมกับ กอช. จำนวน 100 บาท รัฐบาลจะเติมเข้าไปอีก 50 บาท เพราะเป็นกฎหมายตาม พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ที่ว่าถ้าคนอายุ 15 - 30 ปี มาออมกับ กอช. จะสมทบให้อีกครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 1,800 บาท ดังนั้นถ้าเด็กและเยาวชนเก็บเงินวันละ 10 บาท เดือนละ 300 บาท รัฐบาลจะสมทบให้อีก 150 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องบอกว่าผลตอบแทนร้อยละ 50 หาที่ไหนไม่ได้ จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนเก็บเงินวันละ 10 บาท เนื่องจากว่าจะได้รับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 50 และยังมีผลตอบแทน และการออมไม่ได้บังคับว่าจะต้องใส่จำนวนเท่าไหร่ แต่ไม่เกินปีละ 30,000 บาท และเมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนแล้วก็ยังสามารถออมต่อได้ แต่เมื่อเข้าสู่ระบบแรงงานอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการและมีเงินสมทบจาก กบข. สามารถเก็บเงินออมไว้เพื่อรับผลตอบแทนจากการออมไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ กอช. และผู้ที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ สามารถออมกับ กอช. ได้ ซึ่งหลักการคือถ้าคุณออมรัฐบาลจะเติม เช่น ถ้าออมทุกปีรัฐบาลจะเติมให้ทุกปี แต่ถ้าหยุดออมก็จะไม่มีเงินเติม แต่ดอกผลยังอยู่เพราะเงินนั้นได้เอาไปลงทุนให้ ทั้งนี้ สำหรับการวางเป้าหมายในระยะแรก ทางกระทรวง พม. และ กอช. จะมีการร่วมหารือวางแผนการทำงาน เพื่อคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งจริงๆ แล้ว การออมต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการออม
นางอภิญญา กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า เด็กและเยาวชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญกับการออม ขาดการวางแผนทางการเงิน รายได้ที่ไม่เพียงพอและมีภาระหนี้สิน ประกอบกับโครงสร้างประชากรไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากเด็กเกิดน้อย กรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความมั่นคงของเด็กและเยาวชนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางด้านการเงิน การสร้างวินัยในการใช้จ่าย และการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงได้ร่วมกับ กอช. จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการออมเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนเป็นเครือข่ายการออม รวมถึงบุคลากร ดย. และกระทรวง พม. ทั้งนี้ การออมเป็นสิ่งที่สำคัญในความมั่นคงของอนาคต ดังนั้นขอให้เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อจะได้มีความมั่นคงทางการเงินในช่วงวัยเกษียณของเรา
#พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ออมกับกอช #เด็กและเยาวชน