ศาสตราจารย์ ดร.กนก กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย นับว่ามีปัญหาและเผชิญกับข้อท้าทายจำนวนมากที่ต้องการการแก้ไข ทำให้ต้องมีการปรับทิศทางการทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับประเทศที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จำเป็นต้องพัฒนาให้เด็กและเยาวชนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการสมวัย ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน รวมถึงมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย จากสถิติประชากรเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 19,086,567 คน คิดเป็นร้อยละ 28.93 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567) ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ และจำนวนการเกิดที่ลดลงทุกปี ๆ (ปีละประมาณ 500,000 คน) ถือเป็นวิกฤตทางประชากรที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก ทำให้โอกาสในการพัฒนาประเทศที่จะก้าวข้ามจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างมีคุณภาพที่ทำให้เด็กมีคุณสมบัติในการเป็นผู้มีความรอบรู้ สามารถปรับตัวอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง มีทักษะการดำเนินชีวิต มีการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งริเริ่มและมีส่วนร่วมในการลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
ศาสตราจารย์ ดร.กนก กล่าวต่อไปว่า ตามข้อเสนอเชิงนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่กระทรวง พม. ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาวิกฤติประชากรของประเทศนั้น มีทั้งสิ้น 5 ข้อเสนอ ข้อเสนอละ 5 มาตรการ ซึ่งในข้อเสนอที่ 2 คือ “การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา คุณธรรมและจิตใจ เพื่อให้รู้เท่าทันโลก เน้นให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และประเทศชาติต่อไปในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงช่วงปฐมวัย ให้มีสุขภาพกายและจิตใจที่แข็งแรง เนื่องจากการพัฒนาคนในช่วงปฐมวัยจะส่งผลต่อพัฒนาการในช่วงวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะการมีศูนย์เด็กเล็กที่ใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่น และชุมชนช่วยจัดการได้ จะทำให้เด็กในช่วงปฐมวัย ได้รับการดูแลเอาใจใส่ การส่งเสริมพัฒนาการให้เติบโตอย่างสมวัย ซึ่งต้องร่วมมือกับสถาบันครอบครัวและโรงเรียนที่ถือเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน สามารถส่งเสริมและผลักดันให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามช่วงวัย นอกจากนี้ ต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กและเยาวชนอย่างสูงสุด ทุกคน ทุกครอบครัว และสังคมทุกภาคส่วน ต้องมีมุมมองที่มีความเข้าใจ ในความแตกต่างและความหลากหลาย มีแนวคิดและทัศนคติที่เหมาะสม ที่ต้องส่งเสริมพัฒนาการและเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น และเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.กนก กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานสมัชชาฯ ในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีและถือว่ามีความสำคัญที่เครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน จะได้มาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน รวมถึงได้ข้อมติสมัชชาฯ เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพและทักษะที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และนำข้อมติสมัชชาฯ ที่ได้ เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เพื่อให้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาฯ และผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ขอขอบคุณผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านวิทยากร คณะอนุกรรมการจัดสมัชชาฯ และผู้เข้าร่วมการประชุมจากทุกภาคส่วน ที่พร้อมจะส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน และมีส่วนร่วมในการผลักดัน พัฒนาให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณภาพต่อไป
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #สมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ2567 #เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ