เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2568 (WORLD AUTISM AWARENESS DAY - WAAD) พร้อมมอบโล่หน่วยงานที่สนับสนุนงานด้านบุคคลออทิสติกในประเทศไทย อีกทั้งร่วมอ่านสาสน์ "วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก" ซึ่งจัดโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด , สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) , ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก , มูลนิธิออทิสติกไทย, กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ ลานอัฒจรรย์กลางแจ้ง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , MS. Cai Cai , Chief Gender Equality and Social Inclusion Section / Social Development Division UNESCAP และ ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมงาน อีกทั้ง นายอัษฎากรณ์ ขันตรี และนางสาววิมลเลขา โสมภีร์ ผู้แทนเยาวชนบุคคลออทิสติก กล่าวแสดงพลังและคุณค่าของบุคคลออทิสติกในสังคม
นายอนุกูล กล่าวว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทย มีประชากรคนพิการประมาณ 2.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2568) หรือคิดเป็นร้อยละ 3.38 ของประชากรทั้งประเทศ โดยประเภทความพิการที่มีจำนวนมากสูงสุด คือ ความพิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย จำนวน 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51.88% ของจำนวนคนพิการทั้งประเทศ ในส่วนของความพิการทางออทิสติก จำนวน 27,173 คน คิดเป็นร้อยละ 1.22% ของจำนวนคนพิการทั้งประเทศ โดยอยู่ในลำดับ 7 ของประเภทความพิการทั้งหมด
นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (WAAD) ประจำปี 2568 ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ “ออทิสติกกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2030 (SDGs)” เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมาย SDGs ที่ 3 , 4 , 8 10 กับการสนับสนุนบุคคลออทิสติก ที่มุ่งหมายให้ประเทศสมาชิกจัดทำวาระการพัฒนาคุณภาพบุคคลออทิสติกไปสู่ความยั่งยืน นับเป็นกิจกรรมสำคัญระดับโลก ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่มีมติเมื่อปี พ.ศ.2550 กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเด็กและบุคคลออทิสติก ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวง พม. โดย พก. ได้ขับเคลื่อนงานคนพิการที่สำคัญ อาทิ โครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่ง อีกทั้ง กระทรวง พม. มีความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมความพร้อมฝึกอบรมคนพิการ ออกแบบหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้กับบุคคลออทิสติกและคนพิการทุกประเภท ได้รับการพัฒนาทางการศึกษา ทักษะอาชีพ และได้รับการจ้างงานจากสถานประกอบการ โดยเฉพาะกรได้รับการยอมรับ ในศักยภาพของบุคคลออทิสติกจากสังคม
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ ต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติก ซึ่งจำเป็นต้องประสานพลังความร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งกรุงเทพมหานคร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรของคนพิการ องค์กรผู้ปกครองคนพิการ องค์กรเอกชน และองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยร่วมกันคิด วางแผน และทำงานงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับบุคคลออทิสติกได้รับการพัฒนา และแสดงศักยภาพที่มีอยู่ภายในตนเอง สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น เป็นพลังสำคัญของสังคมต่อไป
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5x5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #พันธกิจสำคัญ9ด้าน #วันตระหนักรู้ออทิสติกโลกประจำปี2568