กรุงเทพฯ – 3 กรกฎาคม 2567 – คาร์ดเอกซ์ (CardX) จัดมหกรรมเจรจาประนอมหนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เจรจาพูดคุยเพื่อหาแนวทางการประนอมหนี้ด้วยความพึงพอใจร่วมกัน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีลูกค้ามากกว่าร้อยละ 53 สามารถตกลงเจรจาประนอมหนี้ได้สำเร็จ พร้อมเผย 4 ทิป จัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยคาร์ด เอกซ์ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้านหนี้ครัวเรือน เพื่อผลักดันความเป็นไปได้ทางการเงินที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกคน
นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) กล่าวว่า “คาร์ดเอกซ์ ได้จัดมหกรรมเจรจาประนอมหนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้พูดคุยเจรจาเพื่อร่วมหาแนวทางการประนอมหนี้ด้วยความพึงพอใจร่วมกัน และทำข้อตกลงชำระหนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแต่อย่างใด ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคาร์ด เอกซ์ สนับสนุนเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) พร้อมทั้งมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างรับผิดชอบ โดยผู้เข้าร่วมมหกรรมเจรจาประนอมหนี้ จะได้รับข้อเสนอพิเศษในการผ่อนชำระ เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินและเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้อย่างลงตัวที่สุด”
โดยมหกรรมเจรจาประนอมหนี้ ที่จัดขึ้นโดย คาร์ด เอกซ์ ในครั้งนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีลูกค้ามากกว่าร้อยละ 53 ที่สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้สำเร็จ และบางส่วนยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป และตรวจสอบเอกสาร ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภายในงานมหกรรมเจรจาประนอมหนี้ยังมีข้อเสนอสำหรับลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่มสถานะ ทั้งกลุ่มหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้เสียและมีความฝืดเคืองทางการเงิน กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมาย รวมถึงกลุ่มหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่คดีมีคำพิพากษาไปแล้ว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการพิจารณารายรับและความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า คาร์ด เอกซ์ ยังมีกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่คำนึงถึงภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ควบคู่ไปกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ (Living Expense) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้าแต่ละราย พร้อมทั้งสร้างความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
นอกจากนี้ คาร์ด เอกซ์ ยังมี 4 ทิปที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่ต้องการจัดการปัญหาหนี้บัตรเครดิตที่ทุกคนสามารถทำได้ ดังนี้
- หมั่นตรวจเครดิตบูโรอยู่เสมอ รายงานเครดิตบูโร หรือ รายงานข้อมูลเครดิต คือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ ซึ่งจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี ทำให้เห็นว่ามีการใช้บัตรเครดิตมากเกินไป หรือมีการกู้เงินที่เกินความสามารถในการชำระคืนหรือไม่ ซึ่งรายงานเครดิตบูโรสามารถขอได้ที่สถาบันข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ ช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโร จัดให้บริการ ซึ่งจะทำให้เจ้าของบัญชีเห็นยอดเงินทั้งหมดที่ใช้อยู่ และสามารถวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
- ชำระเงินตรงตามเวลา เจ้าของบัญชีควรทำการชำระเงินคืนให้ตรงตามยอดชำระตามใบแจ้งหนี้ และจ่ายไม่เกินวันที่ครบกำหนดชำระ หรืออีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยป้องกันการลืมนัดชำระเงิน คือการตัดบัญชีอัตโนมัติ (Direct Debit) โดยนำเงินเข้าบัญชีก่อนถึงกำหนดตัดชำระ เพื่อช่วยให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดค่าใช้จ่ายจากการชำระที่ล่าช้า
- ชำระหนี้ที่ยังค้างอยู่ เจ้าของบัญชีควรพยายามชำระหนี้ที่คงค้าง เพื่อสร้างประวัติการชำระที่ดีอยู่สม่ำเสมอเพื่อแสดงให้ธนาคารหรือบริษัทเห็นว่า เจ้าของบัญชีไม่ได้มีความตั้งใจที่จะติดค้างชำระ หรือหากต้องการความช่วยเหลือ สามารถเข้ารับการปรึกษากับธนาคารหรือบริษัทด้วยตนเอง เพื่อชี้แจงสาเหตุของการผิดนัดชำระ และร่วมหาทางออกเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนให้กับธนาคารหรือบริษัทได้แบบไม่ค้างชำระ
- การใช้สินเชื่อ/บัตรเครดิตอย่างมีสติ เนื่องจากสินเชื่อทุกชนิดย่อมมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ดังนั้นควรศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนใช้บริการทุกครั้ง และควรมีวินัยในการชำระเงินคืนเมื่อใช้บริการทางการเงิน เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้หากมีการวางแผนทางการเงินที่ดีและนำมาใช้ได้ถูกจุดจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คาร์ด เอกซ์ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนมาโดยตลอดและพร้อมขานรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อสร้างความเป็นไปได้ทางการเงินให้กับลูกค้าทุกคนได้อย่างเหมาะสม และไม่กระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างมีความรับผิดชอบ โดยคาดว่าจะมีการจัดมหกรรมประนอมหนี้ขึ้นเป็นระยะอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น